การจัดการขยะอินทรีย์ ประสบการณ์จากชุมชนที่เข้มแข็ง

เมื่อวันที่ 29-30 กรกฎาคม 2564 คณะวิจัยโครงการสังเคราะห์และจัดการองค์ความรู้ด้านการจัดการขยะชุมชน จากสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ลงพื้นที่เข้าร่วมเรียนรู้การจัดการขยะอินทรีย์ของชุมชนโนนชัย 1 และชุมชนโนนหนองวัด 1 ในพื้นที่เขตเทศบาลนครขอนแก่น และหมู่บ้านโนนกล้วยหอม ในพื้นที่เขตเทศบาลตำบลบ้านแฮด จ.ขอนแก่น ซึ่งพบว่าแต่ละชุมชนมีบทบาทและความเข้มแข็งที่แตกต่างกัน

ชุมชนโนนชัย เป็นชุมชนกึ่งเมือง ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น มีการจัดการขยะต้นทางในชุมชนตั้งแต่ปี 2559 มีการทำงานของคณะกรรมการชุมชนร่วมกัน โดยแกนนำ คือ นางพรรณา อรรคฮาต ในชุมชนมีรถซาเล้งของคณะกรรมการ 3 คัน ร่วมช่วยเก็บขยะอินทรีย์จากเกือบทุกครัวเรือนในชุมชนที่คัดแยกให้ เพื่อนำมาทำน้ำหมักและปุ๋ยหมักแบ่งปันและจำหน่ายให้ชุมชนนำไปใช้ประโยชน์ และยังเป็นชุมชนปลอดถังขยะ สามารถช่วยลดปัญหาขยะจร เพราะไม่มีถังขยะให้คนนอกชุมชนนำขยะมาทิ้งกองตกค้างในชุมชนได้อีกต่อไป ชุมชนมีแผนในอนาคตเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนด้วยการปลูกผักปลอดภัยเพื่อสร้างรายได้ โดยเป็นการปลูกในกระถางเนื่องจากสภาพพื้นที่ชุมชนกึ่งเมืองมีพื้นที่ดินสำหรับทำการเกษตรไม่มากนัก

ชุมชนโนนหนองวัด 1 เป็นชุมชนเมือง ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น มีการจัดการขยะต้นทางในชุมชนมายาวนาน ตั้งแต่ปี 2549 โดยแกนนำ คือ นายจรูญ เจริญสุข เป็นผู้ใช้รถซาเล้งจัดเก็บรวบรวมขยะอินทรีย์จากร้านอาหารและแม่ค้าหาบเร่มาผลิตน้ำหมักและปุ๋ยหมัก เพื่อส่งให้เทศบาลนำไปใช้ประโยชน์ในการดูแลรักษาความสะอาดพื้นที่เทศบาล ศูนย์จัดการขยะของชุมชนยังมีวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับจัดการขยะอินทรีย์ เช่น เครื่องบดใบไม้ เครื่องปั่นใบไม้ และเครื่องผสมปุ๋ย

ชุมชนบ้านโนนกล้วยหอม เป็นชุมชนเกษตรกึ่งเมือง ในเขตเทศบาลตำบลบ้านแฮด มีการจัดการขยะต้นทางที่ชัดเจนเมื่อปี 2556 โดยแกนนำในการจัดการขยะอินทรีย์ คือ นายวินัย คอนชัย และนายพลศึก สินทร มีการรวมเป็นกลุ่มผักสวนครัวรั้วกินได้ โดยเน้นให้แต่ละครัวเรือนทำการผลิตปุ๋ยหมักและน้ำหมักใช้ ผู้ที่ไม่ผลิตเองจะนำมาให้แกนนำช่วยผลิตให้ ผลผลิตที่ได้มีทั้งทำใช้เอง แบ่งปัน และขายบ้างเล็กน้อย ในชุมชนนี้ยังมีครัวเรือนของนางนงนุช อินทรมณี ที่สามารถต่อยอดการทำปุ๋ยหมัก ทำการผลิตปุ๋ยหมักและน้ำหมักหลากหลายชนิด และยังทำผักอินทรีย์ส่งขายให้กับห้างสรรพสินค้า และตลาดนัดของชุมชน

การเรียนรู้จากทั้ง 3 ชุมชน พบว่า ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสำเร็จในการจัดการขยะอินทรีย์นอกเหนือจากการสนับสนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมี 2 ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้การจัดการขยะอินทรีย์มีความเข้มแข็ง คือ 1) แกนนำของทั้ง 3 ชุมชน ล้วนเป็นผู้ที่มีความรู้ ความชอบ และประสบการณ์ด้านการผลิตน้ำหมักและปุ๋ยหมักอินทรีย์ก่อนเข้าร่วมกิจกรรมการจัดการขยะอินทรีย์ในชุมชน 2) การมีแรงจูงใจและปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการตึ่นตัวด้านการจัดการขยะต้นทาง ทั้ง 3 ชุมชนมีการเร่งพัฒนาด้านการจัดการขยะอินทรีย์เพื่อส่งประกวดรางวัล Zero waste และในชุมชนบ้านโนนกล้วยหอมยังพบว่ามีแรงกระตุ้นจากคนนอกที่เข้ามามีส่วนร่วมในชุมชน จากคำบอกเล่าของนายวินัย คอนชัย การมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้ามาฝึกปฏิบัติงานในพื้นที่ยาวนานถึง 3 เดือน เป็นตัวช่วยเร่งและกระตุ้นให้คนในชุมชนตื่นตัวด้านการจัดการขยะอินทรีย์อย่างรวดเร็ว