เรียนรู้ดูแลอนุรักษ์ป่าที่ วนพรรณการ์เดนท์

          

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 คณะผู้วิจัยโครงการบริหารจัดการพื้นที่ป่าสาธารณะใกล้เมืองฯ สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้พาคณะกรรมการป่าและคนในชุมชนโคกหนองม่วง ตำบลหัวหนอง อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น จำนวน 20 คน ไปเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าที่วนพรรณการ์เดนท์ บ้านกง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น โดยมีวิทยากร/เจ้าของสวน นายปรีชา หงอกสิมมา (ครูแขก) และผู้ช่วย เป็นผู้ให้ความรู้ด้านธนาคารต้นไม้ การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ การเผาถ่าน การเพาะชำกล้าไม้ และการผลิตสมุนไพรแคปซูล

           ธนาคารต้นไม้ เป็นการเรียนรู้อยู่กับป่าและประโยชน์ของต้นไม้ในป่าที่ไม่เพียงแค่การให้ความร่มรื่น แต่ การปลูกต้นไม้ป่ายังเปรียบเสมือนการฝากเงินออมระยะยาว เมื่อต้นไม้เติบโตขึ้นก็มีราคาสูงขึ้น หากปลูกต้นไม้ไว้ 30 ต้น เมื่ออายุ 20 ปีมีมูลค่าต้นละ 100,000 บาท ก็เสมือนกับเรามีเงินฝากธนาคารไว้ถึง 3 ล้านบาทเลยทีเดียว นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีข้อตกลงเพื่อการลดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก (Climate Change) ที่กำหนดให้ภาคธุรกิจเอกชนผู้ผลิตคาร์บอน ต้องทำการลดหรือชดเชยก๊าซที่สร้างขึ้นด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)จากกลุ่มผู้ปลูกป่า อย่างไรก็ตามการขายคาร์บอนเครดิตของชุมชนอาจยังต้องพิจารณาถึงความคุ้มทุนและเงื่อนไขสัญญาระยะยาวที่อาจส่งผลต่อการใช้ประโยชน์จากป่าของตนเอง

           การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ เป็นการปลูกผักสำหรับคนขี้เกียจ เพราะไม่ต้องมาคอยรดน้ำ แค่เปิดก๊อกน้ำปล่อยให้น้ำไหลวนเลี้ยงพืชผักตามรางท่อพีวีซีก็ได้ผลผลิตผักนำไปขายจำหน่ายได้ราคาดี

การเผาถ่าน เป็นการใช้ประโยชน์จากกิ่งไม้เศษไม้เล็กๆในป่าด้วยการนำมาเผาในถัง ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่การเผา แต่เป็นการอบแบบให้ความร้อนสูงในถัง 200 ลิตร จนไม้เปลี่ยนสภาพเป็นถ่านโดยวิธีการอบเผาแบบนี้จะทำให้วัสดุกิ่งไม้หรือเศษผลไม้มีลักษณะคงสภาพเดิมเหมือนก่อนเผา จึงมีบางคนต่อยอดนำผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเผาถ่านมาเพิ่มมูลค่าเป็นวัสดุดับกลิ่น

การเพาะชำกล้าไม้ หลายๆคนอาจจะมีประสบการณ์เพาะชำกล้าไม้ของตนเองด้วยการนำขุยมะพร้าวมาเป็นวัสดุปลูกเพาะชำแล้วก็ทำการปลูกเหมือนต้นไม้ทั่วไปทิ้งไว้ดูแลรดน้ำให้เติบโต แต่ครูแขกมีวิธีการเพาะชำกล้าไม้ที่ทำได้ง่ายไม่ต้องดูแลมาก ด้วยการนำขุยมะพร้าวมาแช่น้ำทิ้งไว้ 3 ชม.- 1 คืน นำขุยมะพร้าวใส่ตะกร้าแล้วใช้สายยางรดน้ำเพื่อทำความสะอาดขุยมะพร้าว นำขุยมะพร้าวมาผสมกับมูลวัวเป็นวัสดุปลูก (ห้ามใช้มูลไก่ หรือมูลหมูเพราะมูลเหล้านี้จะคายความร้อนออกมา) บรรจุวัสดุปลูกใส่ถุงแล้วนำกล้าไม้มาเสียบวัสดุปลูก นำถุงกล้าไม้ใส่ถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่แล้วปิดหุ้มมัดปากถุงไว้ แล้วปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ต้องรดน้ำอย่างน้อย 2 สัปดาห์จนกระทั่งมีรากแตกออกมา ก็จะได้ต้นไม้มีคุณภาพเหมาะสำหรับนำไปปลูกลงพื้นดินต่อไป

           การผลิตสมุนไพรแคปซูลแบบใครๆก็ทำได้ง่าย สำหรับใช้ในการผลิตสมุนไพรเพื่อดูแลสุขภาพในบ้าน ด้วยการนำสมุนไพรมาอบให้แห้งแล้วบดปั่นละเอียดจนเป็นผงบรรจุใส่ถุง สมุนไพรในถุงสามารถเก็บไว้ใช้ได้นาน 1 ปี และหากต้องการให้ใช้สะดวกมากขึ้น ก็นำผงสมุนไพรมาบรรจุใส่แคบซูล โดยใช้เครื่องบรรจุแคปซูลง่ายๆที่ผลิตจากไม้ เพียงแค่นี้ก็ได้สมุนไพรสำหรับดูแลรักษาสุขภาพตนเองอีกยาวนาน โดยครูแขกเล่าว่าการเก็บสมุนไพรมาผลิตยาแคปซูลควรเลือกเก็บในช่วงที่พืชมีฤทธิ์ออกยาสูงสุด เช่น ฟ้าทะลายโจรควรเก็บในช่วงออกดอก ส่วนขมิ้นชันควรเก็บในช่วงเดือนสิบสอง เป็นต้น

           หลังการเรียนรู้หลากหลายกิจกรรมในวนพรรณการ์เดนท์ คณะกรรมการป่า คณะผู้วิจัยโครงการฯ และครูแขกได้มีการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าโคกหนองม่วง โดยครูแขกได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติม 2 ประเด็น ประเด็นแรก ควรมีการจัดการโครงสร้างของป่าให้มีต้นไม้ชนิดไม่ผลัดใบ เช่น ต้นหว้า มะม่วง ยางนา มะฮอกกานี และตะเคียน ในอัตราส่วนอย่างน้อย 1 ใน 3 ของต้นไม้ในป่า เพื่อให้โครงสร้างต้นไม้ในป่ามีความร่มรื่น เพราะหากมีแต่ต้นไม้ผลัดใบจะทำให้มีช่วงที่ป่าไม้ทิ้งใบร่วงหมดเกิดสภาพร้อนและแห้งแล้งจนอาจก่อให้เกิดไฟป่าได้ง่าย ส่วนต้นไม้ที่ไม่ควรปลูกหรือต้องควบคุมไม่ให้เพิ่มขึ้น คือ หนามหัน เสี้ยว และหนามเล็บแมว เพราะเป็นไม้คุกคามแย่งพื้นที่พืชอื่น ประเด็นที่ 2 ควรปลูกพืชอาหารลงในป่า เช่น การเอาผักหวานกลับโคกในป่า โดยใช้เมล็ดปลูกเป็นหลุมหลุมละ 10 เมล็ด การปลูกผักหวานต้องปลูกผักหวานเป็นกลุ่มต้นผักหวานไม่ปลูกต้นเดียวเพื่อให้มันปรับตัวอยู่ร่วมกัน ใช้เวลาปลูก 5 ปีก็จะมีผักหวานเป็นอาหารในป่านำไปใช้ประโยชน์ได้