ฟื้นฟูกิจกรรมศึกษาดูงานระหว่างมหาวิทยาลัยริทซูเมกัน (Ritsumeikan University-RU) ประเทศญี่ปุ่น กับสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม (Research for Social Development-RSDI) และ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น (College of Local Administration-COLA) มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม และวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น กับ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยริทซูเมกัน ได้ริเริ่มจัดกิจกรรมศึกษาดูงานเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2563 ต้องงดดำเนินกิจกรรมชั่วคราวเนื่องจากปัญหาสถานการณ์โควิดระบาด และกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้งในลักษณะทดลองจัดเป็นกลุ่มเล็กเมื่อวันที่ 16 – 24 สิงหาคม 2565 ภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันความเสี่ยงที่รัดกุม สำหรับคณะจากมหาวิทยาลัยริทซูเมกัน นำทีมโดย Prof. Kiyoto Kurokawa บุคลากรจากสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม นำทีมโดย นางสินี ช่วงฉ่ำ นางสาวพัชรินทร์ ฤชุวรารักษ์ และนางสาวจรัญญา วงษ์พรหม ส่วนคณะจากวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น นำทีมโดย อาจารย์สุริยานนท์ พลสิม

  จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 12 คน ประกอบด้วย อาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยริทซูเมกัน จำนวน 6 คน บุคลากรจากสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนา จำนวน 3 คน อาจารย์และนักศึกษาจากวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น จำนวน 3 คน ประเด็นเรียนรู้สำหรับปีนี้ คือ วิถีชีวิตและวัฒนธรรม ผลกระทบและการปรับตัวของชุมชนไทยอีสาน ผ่านกิจกรรมเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์รูปแบบต่างๆ การท่องเที่ยวชุมชน วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนประวัติและพัฒนาการเมืองขอนแก่น รวมทั้งโครงการวิจัยสำคัญของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และวิถีชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น

โดยในวันพุธที่ 17 สิงหาคม 2565 ศาสตราจารย์ ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา ได้ให้เกียรติกล่าวต้อนรับคณะผู้ศึกษาดูงานและร่วมรับประทานอาหารเที่ยง ณ ร้านอาหารไก่ย่างปรีชา อุทยานเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สำหรับการศึกษาดูงาน สามารถสรุปเป็นกลุ่มกิจกรรมการเรียนรู้ดังนี้

การเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น: เริ่มจากเยี่ยมชมและร่วมทำกิจกรรมไปพร้อมๆกับคณะนักเรียนจากหลากหลายโรงเรียนในวันแรกของสัปดาห์วิทยาศาสตร์ 2565 ที่ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา แล้วแวะชมหอพักวรอินเตอร์ เพื่อดูสถานที่พักของนักศึกษาไทยและต่างชาติที่มาศึกษาในมข. และทดลองใช้บริการรถ Shuttle bus ส่วนในช่วงบ่ายรับฟังบรรยายจาก ศ.ดร.บรรจบ ศรีภา เพื่อเรียนรู้ด้านการจัดการและควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยโรคเขตร้อน คณะแพทยศาสตร์ ต่อมาวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ได้ไปเรียนรู้โครงการผสมผสานระบบการเลี้ยงสัตว์น้ำและการปลูกพืชแบบไร้ดิน (Aquaponics Project) โดยมี ผศ.ดร.ชานนท์ ลาภจิตร หมวดพืชผัก สาขาวิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ เป็นวิทยากร

การท่องเที่ยวชุมชนและมรดกทางวัฒนธรรม: เรียนรู้ท่องเที่ยววิถีเกษตรและวัฒนธรรมชุมชน ที่แก่งละว้า อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น มีกิจกรรมทำบุญเช้าที่วัดพระเจ้าใหญ่ผือบัง ลงเรือล่องแก่งเรียนรู้สภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนรอบแก่งที่พึ่งพิงแก่งละว้าเพื่อการเกษตรการประมง และแหล่งอาหาร และยังมีกิจกรรมการทอเสื่อกกให้นักศึกษาได้ฝึกหัด รวมถึงเรียนรู้ประวัติศาสตร์โบราณคดีของบ้านเมืองเพียยุคชุมชนโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์สืบเนื่องมาจนถึงสมัยทวาราวดี และการจัดตั้งบ้านเมืองเพียในปัจจุบัน โดยคนในชุมชนร่วมอนุรักษ์เก็บรวบรวมวัตถุโบราณจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์อยู่ภายในเขตวัดมงคลหลวง บ้านเมืองเพีย นอกจากนี้ยังมีการศึกษาดูงานด้านโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ ที่เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติในเขตภาคอีสานตอนบนที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น

กิจกรรมการเกษตรและการประมง: เรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ที่ วนพรรณ ออร์แกนิค การ์เดน บ้านท่าลี่ ตำบลบ้านกง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น โดยนายปรีชา หงอกสิมมา มีการจัดการพื้นที่ตามแนวทฤษฎีใหม่ ด้วยการปลูกป่าร่วมกันโดยคนในชุมชนเพื่อขายคาร์บอนเครดิต การปลูกข้าวอินทรีย์ การผลิตสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองของชุมชนบ้านท่าลี่ โดยเฉพาะการผลิตแคปซูลฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษาคนในชุมชนตนเองในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 และการเก็บคาร์บอนในรูปของถ่านช่วยดับกลิ่น เรียนรู้การปลูกพืชผักไฮโดรไปนิกส์ ที่ฟาร์มข่อยสุวรรณ บ้านกุดกว้าง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นธุรกิจการปลูกพืชผักไร้ดินระบบเครือข่ายส่งซีพี ที่สามารถสร้างรายได้สม่ำเสมอน่าพอใจ โดยใช้แรงงานในครอบครัวดูแลเพียง 2 คน การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ดินเค็มของกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงปลาบ้านหนองนางขวัญ ตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นการปรับตัวจากสภาพดินเค็มที่ทำการปลูกพืชไม่ได้ผล มาทำการเลี้ยงกุ้งและปลาแทน

วิสาหกิจชุมชน: กลุ่มผลิตภัณฑ์จากใยบวบ บ้านเมืองเพีย ตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น มีการนำใยบวบมาเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ของใช้หลากหลายรูปแบบ กลุ่มทอผ้าไหมผ้าฝ้ายบ้านคามวารี ตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เรียนรู้การทอผ้า การทำลายมัดหมี่ มีการผลิตผ้าขาวม้าที่ประยุกต์ให้ผ้ามีความอ่อนนุ่มสวมใส่สบายมากขึ้น และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมใช้ที่หลากหลายในราคาที่ซื้อหาได้ง่าย กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านโคกสว่าง (แปรรูปข้าวแต๋น) ตำบลคอนฉิม อำเภอแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น กลุ่มนี้เน้นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตหลักของท้องถิ่น คือ ข้าว โดยแปรรูปเป็นข้าวแต๋น ที่มีการปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายน่าซื้อหามากขึ้น มีการประยุกต์ใช้ไคเซ็น (Kaizen) กลยุทธ์การบริหารคุณภาพทั้งระบบแบบญี่ปุ่นและเน้นการจัดการตลาดของตนเองแทนการฝากขายตามร้านค้า

หลังจากเสร็จสิ้นการเดินทางศึกษาดูงาน นักศึกษาจึงทำการสรุปและนำเสนอผลการศึกษาดูงานในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ณ ห้องประชุมอุดร ตันติสุนทร วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น โดยมีอาจารย์และนักศึกษาจากวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น จำนวน 20 คน ร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น จากนั้นคณะจากมหาวิทยาลัยริทซูเมกันเดินทางไปกรุงเทพมหานคร เพื่อเข้าพบฟังบรรยายสรุปเรื่องบทบาท JICA-Japan Cooperation Agency Thailand ในวันที่ 25 สิงหาคม 2565 และเดินทางกลับประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 26 สิงหาคม 2565