ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2565 โครงการสังเคราะห์และจัดการองค์ความรู้ด้านการจัดการขยะอาหาร นำโดย ดร.พัชรินทร์ ฤชุวรารักษ์ และดร.วิเชียร เกิดสุข ลงพื้นที่ในเขตจังหวัดขอนแก่น เพื่อเรียนรู้ด้านการจัดการขยะอาหารด้วยหนอนแมลงโปรตีนสำหรับนำไปใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงสัตว์ โดยเป็นพื้นที่เรียนรู้ซึ่งผ่านการอบรมความรู้จาก หมวดแมลงอุตสาหกรรม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้การดูแลของ ศ.ดร.ยุพา หาญบุญทรง และ ดร.ชุตินันท์ ชูสาย มีบทเรียนสำคัญจากการเรียนรู้และการนำหนองแมลงโปรตีนไปใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน ดังนี้

           การใช้ประโยชน์เพื่อการเลี้ยงสัตว์ของเทศบาลตำบลน้ำพอง ด้วยวิสัยทัศน์ของ นายสุรชัย คชินทักษ นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลน้ำพอง ที่ต้องการส่งเสริมด้านการเกษตรในการสร้างรายได้และลดรายจ่ายให้กับเกษตรกรในพื้นที่ จึงริเริ่มทดลองเลี้ยงหนอนแมลงโปรตีนเพื่อนำไปใช้เป็นอาหารเลี้ยงไก่ไข่ ปลาดุก และหนูนา โดยมีการจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ในบริเวณสถานที่ทำการของเทศบาลตำบลน้ำพอง และอยู่ระหว่างการพัฒนาพื้นที่จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ขนาดใหญ่ในพื้นที่ 10 ไร่ คาดว่าจะสามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเกษตรกรในเขตพื้นที่เทศบาล และบุคคลภายนอกที่สนใจในช่วงต้นปีพ.ศ. 2566

การประยุกต์อาหารเลี้ยงหนอนแมลงโปรตีนสำหรับการเลี้ยงปลา โดย อ.สังวาลย์ สุนทอง อาจารย์สอนภาษาญี่ปุ่น ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ใช้ชีวิตต่างแดนมายาวนานหลายปี แต่ด้วยจิตสำนึกรักบ้านเกิด และต้องการถ่ายทอดงานด้านการเกษตรให้กับเยาวชนรุ่นหลังไม่ให้หลงไหลกับค่านิยมอยากเป็นเจ้าคนนายคนในเมืองจนละเลยทิ้งบ้านเกิดและอาชีพหลักของบรรพบุรุษไทย อ.สังวาลย์จึงกลับมาพัฒนาพื้นที่นาของพ่อแม่ให้เป็น ศูนย์เรียนรู้การเกษตรเครือข่าย THAI-JAEC LEARNING CENTER ที่บ้านหนองจิก ต.หนองแวง อ.พระยืน จ.ขอนแก่น เพื่อเป็นสถานที่ให้เด็ก เยาวชน และผู้สนใจทั่วไปเข้ามาเรียนรู้ โดยมีการเลี้ยงหนอนแมลงโปรตีนสำหรับใช้เป็นอาหารเลี้ยงปลา ส่วนอาหารเลี้ยงหนอนได้รับขยะอาหารจากห้างซุปเปอร์มาร์เกตในเขตพื้นที่ขอนแก่น แต่ขยะอาหารยังมีไม่สม่ำเสมอ จึงมีบทเรียนสำคัญของการเลี้ยงจากปัญหาขยะอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งแก้ไขโดยการผลิตอาหารราคาถูกด้วยการใช้รำข้าวหมักกับน้ำมะพร้าวเทียม (ส่วนผสมของน้ำมะพร้าวเทียม คือ รำ น้ำตาลทรายแดง และน้ำ หมักทิ้งไว้ 5-7 วัน) รำที่ผ่านการหมักแล้วจะสามารถนำมาเลี้ยงหนอนแมลงโปรตีนสำหรับเลี้ยงปลาเพื่อการบริโภคได้เป็นอย่างดี

           การใช้ประโยชน์จากหนอนแมลงโปรตีนสำหรับการเลี้ยงไก่ไข่ ที่ วนเกษตรบ้านสวนจิตพอเพียง บ้านหนองแวง ต.หนองแวง อ.พระยืน จ.ขอนแก่น โดยคุณจิตติมา วงศ์เพ็ชร เกษตรกรหญิงที่ลาออกจากอาชีพประจำหันมาสร้างรายได้ด้วยการเลี้ยงไก่ไข่ในพื้นที่บ้านสวนของตนเอง มีการนำขยะอาหารจากห้างโลตัส สาขาบ้านทุ่ม มาเลี้ยงหนอนแมลงโปรตีนสำหรับเป็นอาหารให้ไก่ไข่ทดแทนอาหารสำเร็จรูป โดยเน้นการเลี้ยงด้วยวัตถุดิบธรรมชาติที่สะอาดและปลอดภัยจากสารเคมี ขยะอาหารซึ่งส่วนใหญ่เป็นเศษผลไม้และผักจึงถูกนำมาล้างให้สะอาดก่อนนำไปเป็นอาหารให้หนอนแมลงโปรตีน ผลของการเลี้ยงสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายสำหรับซื้ออาหารสัตว์สำเร็จรูป เดือนละ 4 กระสอบ คิดเป็นค่าใช้จ่ายโดยประมาณ 2,000 บาท โดยพบว่าไก่ไข่ที่เลี้ยงด้วยหนอนแมลงโปรตีนจะมีอายุการให้ไข่ยาวนานกว่าการเลี้ยงด้วยอาหารสัตว์สำเร็จรูป

การใช้ประโยชน์จากหนอนแมลงโปรตีนสำหรับการเลี้ยงจิ้งหรีด ของ ศิวะพณฟาร์ม ต.บ้านหัน อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น โดย คุณนุชกัญญา ลิ้มสุวัฒนา ผู้ซึ่งมีอาชีพหลัก คือ การรับซื้อขายขยะรีไซเคิล แต่ด้วยแนวคิดการสร้างงานให้กับลูกจ้างและการใช้ประโยชน์สูงสุดเพื่อการจัดการขยะที่มีอยู่ในฟาร์ม จึงมีการทำฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดโดยให้หนอนแมลงโปรตีนเป็นอาหารแทนอาหารสัตว์สำเร็จรูป ส่วนหนอนแมลงโปรตีนถูกเลี้ยงด้วยขยะอาหารภายในฟาร์มและขยะอาหารจากห้างโลตัสในสาขาเขตพื้นที่อำเภอชุมแพ ผลจากการมีขยะอาหารจำนวนมากจึงสามารถขยายปริมาณการเลี้ยงหนอนแมลงโปรตีนได้ถึง 250 กะละมัง  ได้ผลผลิตหนอนแมลงโปรตีน เดือนละ 250-300 กก. สามารถช่วยลดต้นทุนค่าอาหารสำหรับเลี้ยงจิ้งหรีด ได้ร้อยละ 40 มีปัญหาสำคัญในการเลี้ยงแมลงโปรตีน คือ เพาะไข่ได้น้อยในช่วงสภาพอากาศหนาว จึงแก้ไขด้วยการทำให้โรงเรือนอุ่นในช่วงที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส โดยใช้พลาสติกปิดล้อมโรงเรือนในช่วงกลางคืน ทำให้สามารถเพาะไข่ได้จำนวนมากตามที่ต้องการ