สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม

เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทและการบริหารจัดการภายในสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดตั้ง “สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม” ขึ้น เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานอธิการบดี ตามประกาศมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฉบับที่ 981/2559 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559
“กำหนดบทบาทหน้าที่ให้สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบการส่งเสริมการวิจัยเพื่อการแก้ปัญหาและการพัฒนาตามบริบทและสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของชุมชน และสังคม ประสานความร่วมมือและพัฒนาศักยภาพการวิจัยและพัฒนาชุมชนและสังคมแบบบูรณาการ ถ่ายทอดและขยายผลการวิจัยสู่การพัฒนาชุมชนและสังคม และนำไปสู่การกำหนดเป็นนโยบายสาธารณะ และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย”

     สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม Research for Social Development Institute : RSDI และตามประกาศมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฉบับที่ 312/2561 เรื่อง การแบ่งหน่วยงานสำนักงานอธิการบดี ข้อ 5.2 (6) และประกาศมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฉบับที่ 313/2561 เรื่อง การแบ่งหน่วยงานย่อยของหน่วยงาน สำนักงานอธิการบดี ข้อ 6.2 (6) ”สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม แบ่งหน่วยงานย่อย 1) งานวิจัยและพัฒนา  2) งานฝึกอบรมเพื่อการพัฒนา  3) งานถ่ายทอดและเผยแพร่ผลงานวิจัย 4) งานบริหาร” และกำหนดบทบาทหน้าที่ ตามเอกสารแนบท้ายประกาศมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฉบับที่ 313/2561 เรื่อง การแบ่งหน่วยงานย่อยของหน่วยงานสำนักงานอธิการบดี กลุ่มที่ 2 หน่วยงานสนับสนุนภารกิจและยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย (6)

ต่อมา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารมหาวิทยาลัย พ.ศ.2563-2566 ซึ่งมีที่มาจากการวิเคราะห์สภาพปัจจุบัน และสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบต่อมหาวิทยาลัย ตลอดจนคณะ/หน่วยงานในสังกัด ทั้งจุดมุ่งหมายและปณิธานการก่อตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น พันธกิจของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ข้อมูลพื้นฐานตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และภาวะคุกคาม (SWOT Analysis) รวมทั้งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนามหาวิทยาลัย อันประกอบด้วย สถานการณ์และบริบทแวดล้อมด้านความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแบบก้าวกระโดดของโลกและภูมิภาค สถานการณ์และบริบทแวดล้อมด้านเศรษฐกิจและสังคม การศึกษา การเมืองและความมั่นคง ด้านสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาคอาเซียน แนวคิด ทิศทาง นโยบายแผนงานระดับต่างๆ ของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย แนวคิดประเทศไทย 4.0 ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 กรอบแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2559-2565) นโยบายรัฐบาล : พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตลอดจนด้านสภาพแวดล้อมและสภาพการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อสังคมไทยและสังคมโลก (Global Risks) ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายมหาวิทยาลัยในอนาคต (The Future Challenges) จึงนำสู่การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ซึ่งมีสาระสำคัญ ตามแผนยุทธศาสตร์การบริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ.2563-2566

     ปี 2564 ศาสตราจารย์มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะผู้รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มอบหมายภารกิจให้สถาบันฯ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สำคัญ 4 ยุทธศาสตร์ ตามคำสั่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ 10007/2564 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 นั่นคือ
          ยุทธศาสตร์ที่ 1 การขับเคลื่อนงานวิจัยเศรษฐกิจและสังคมเชิงพื้นที่
          ยุทธศาสตร์ที่ 2 งานประเมินโครงการ*
          ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสื่อสารการใช้ประโยชน์สู่ชุมชน สังคม อย่างยั่งยืน
          ยุทธศาสตร์ที่ 4 การจัดการองค์กร
     รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา ให้สถาบันฯ ดำเนินการทบทวนและปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ของสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม พุทธศักราช 2565-2566 ขึ้นใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ และแผนการปฏิบัติงานประจำปีของสถาบันฯ พัฒนาขึ้นจากฐานความคิดของการมีส่วนร่วมของบุคลากรทุกส่วน ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาประเด็นวิจัย การทำงานในพื้นที่ การทำงานวิจัยและพัฒนาที่เน้น กระบวนการการมีส่วนร่วม Participation Process
     *ในปี 2566 ในคราวประชุมผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และหัวหน้างานของสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม วาระการประชุมเรื่อง “การปรับปรุงตัวชี้วัดและคำอธิบายตัวชี้วัด สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม ปี พ.ศ. 2566” วันอังคารที่ 30 สิงหาคม 2565  มีมติปรับปรุงยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ ตัวชี้วัด และค่าเป้าหมายเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารงานของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และผลลัพท์ตามวัตถุประสงค์ Objective and Key Results (OKR) ตามแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 มากขึ้น  Click..       
     โดยให้ความสำคัญและคำนึงถึงความสอดคล้องต่อนโยบายและแผนพัฒนาต่างๆ ของประเทศ กับภารกิจของสถาบันฯ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อการพัฒนาชุมชนและสังคมในวงกว้าง กล่าวคือ
     “…การประสานความคิด และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยเคารพความแตกต่างที่หลากหลาย คือ หัวใจของกระบวนการทำงานของสถาบันฯ…
…การเรียนรู้ในที่นี้ คือ การเรียนรู้วิธีคิดของภาคี เรียนรู้ปัญหาและความแตกต่างหลากหลายของบริบทแต่ละพื้นที่ ผนวกกับการประสานความร่วมมือที่ต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่เฉพาะเพื่อเตรียมจัดทำโครงการ/กิจกรรม หรือระหว่างดำเนินโครงการ/กิจกรรม เท่านั้น… แต่เป็นการประสานภายหลังสิ้นสุดการดำเนินโครงการด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ข้อคิดเห็น ร่วมวิเคราะห์สถานการณ์จนพัฒนาไปสู่หนทางในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมเกิดเป็นโครงการ/กิจกรรมเพื่อพัฒนาอย่างต่อเนื่อง…”