การใช้ประโยชน์จากวัชพืชในแก่งละว้า ตอนที่ 2 เริ่มปลูกพืชลอยน้ำ

0
61

วันที่ 10 สิงหาคม 2567 เป็นวันเริ่มต้นปลูกพืชลอยน้ำชุดแรก ของกลุ่มปลูกผักบ้านชีกกค้อ หมู่ที่ 7 และ หมู่ที่ 13 ต.เมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น โดยมีแกนนำชาย 3 หนุ่ม จากกลุ่มปลูกผักบ้านชีกกค้อ พี่ทวีศักดิ์ พ่อบุญเหลือ และพ่อพุธ ร่วมกันจัดตั้งแพปลูกผักลงน้ำ ส่วนสมาชิกสตรีร่วมช่วยกันเตรียมกล้าไม้และดินปลูกบรรจุลงตะกร้า และมี ดร.หิรํญ และดร.พัชรินทร์ จากสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาร่วมให้คำแนะนำและเอื้ออำนวยการ โดยกิจกรรมนี้เป็นชุดทดลองนำร่อง สำหรับใช้พัฒนาและปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปลูกผักให้สำเร็จก่อน แล้วค่อยขยายผลจำนวนแปลงให้กับสมาชิกปลูกผักต่อไป

การปลูกผักลอยน้ำ ใช้ดินปลูกที่ประกอบด้วย ดิน 1 ส่วน และวัสดุปลูก 1 ส่วน โดยใช้ดินในบริเวณพื้นที่กลุ่มปลูกผัก ส่วนวัสดุปลูกมาจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคลองเจริญ ที่มีพ่อเปี๊ยกเป็นประธานกลุ่มได้จัดเตรียมวัสดุปลูกที่มีส่วนผสมของแกลบ กลีบดอกบัวหลวง และปุ๋ยคอกมาให้  จากนั้นนำดินปลูกใส่ลงตะกร้า แล้วนำต้นกล้าปลูกลงดิน กล้าพืชผักที่นำมาปลูกในชุดนำร่อง ได้แก่ พริก ผักชีหอม ผักคะน้า ต้นหอม ผักสลัด และเมล่อน

ส่วนแพปลูกผักลอยน้ำ ทำการติดตั้ง จำนวน 3 แพ ขนาดก้วาง 1 เมตร ยาว 4 เมตร ทำการตอกเสาไม้ไผ่ลงน้ำ 4 มุม และ 1 มุมกลาง เพื่อยึดแพไว้ไม่ให้เคลื่อนย้าย แพที่ 1 และ 2 ใช้หญ้าไซซึ่งหาได้จากแก่งละว้าเป็นวัสดุรองพื้นวางบนแพ (เดิมจะใช้แพหญ้าไซสำหรับเป็นแพปลูกผัก แต่ขนย้ายแพหญ้าไซข้ามฝั่งไม่ได้ จึงเปลี่ยนไปใช้เป็นวัสดุรองพื้นแทน) นำตะกร้าปลูกพืชจัดตั้งวางไว้บนแพ จำนวน 24 ตะกร้า รดน้ำให้ชุ่ม แต่ระหว่างดำเนินการตั้งวางตะกร้าปลูกพืช แพค่อยๆ จมลงเรื่อยๆ แก้ปัญหาด้วยการติดตั้งแกลลอนพลาสติกขนาด 20 ลิตร จำนวน 3 ถัง ไว้ที่ใต้แพ ส่วนแพที่ 3 ใช้ผักตบชวาเป็นวัสดุรองพื้น แพนี้เตรียมการเฉพาะนำผักตบชวาตากไว้บนแพ และจะดำเนินการปลูกในรอบถัดไป

นอกจากนี้ยังมีบทเรียนและข้อสังเกตุระหว่างดำเนินการปลูก สำหรับใช้แก้ไขการปลูกพืชลอยน้ำรอบถัดไป หลายประเด็น ได้แก่ 1) การขนย้ายตะกร้าปลูกผัก เพื่อความสะดวกต่อการขนย้ายลงแพ ให้รดน้ำหลังจากตั้งวางภาชนะบนแพแล้ว เพราะหากรดน้ำก่อนจะเพิ่มน้ำหนักตะกร้าทำให้ยากต่อการขนย้าย 2) ขั้นตอนการติดตั้ง หลังตั้งวางแพไม้ไผ่ลงน้ำแล้ว ให้ทำการวางหลักเสาไม้ไผ่เพื่อยึดแพไม่ให้เคลื่อนย้ายไปตามน้ำก่อนนำภาชนะปลูกลงแพ 3) วัสดุรองพื้น เช่น ผักตบหรือหญ้าไซควรตากให้แห้งก่อน จะทำให้น้ำหนักเบาสะดวกต่อการขนย้าย มีข้อสังเกตว่าการปลูกรอบนี้นำผักตบชวาสดวางตากไว้บนแพพบว่าผ่านไป 2 อาทิตย์ผักตบชวาก็ยังไม่แห้ง 4) ตะกร้าปลูก ไม่มีการรองวัสดุด้วยกาบมะพร้าวหรือพลาสติก เป็นรูกลวงด้านล่าง อาจทำให้ดินไหลรั่วลงน้ำ

กิจกรรมนี้มีสิ่งที่น่าชื่นชมสมาชิกกลุ่มปลูกผักบ้านชีคกกค้อที่ร่วมแรงร่วมใจกันอย่างแข็งขัน และมีแนวคิดเน้นการนำวัสดุเหลือใช้ในพื้นที่มาใช้ประโยชน์เป็นหลัก โดยไม่ต้องหาซื้อมาจากข้างนอก ประกอบด้วยตะแกรงพลาสติกที่ใช้บรรจุผักสดเหลือทิ้งจำนวนมากอยู่ที่ตลาดสดในเขตอำเภอบ้านไผ่สำหรับใช้เป็นภาชนะปลูกผัก แพไม้ไผ่ใช้ไม้ไผ่ตามแปลงเกษตรของคนในหมู่บ้านที่ใจดีให้ไม้ไผ่ฟรี แต่ชาวบ้านต้องไปร่วมแรงในการตัดไม้ไผ่มาใช้เอง การมัดแพให้ยึดติดกันพี่ทวีศักดิ์ใช้สายน้ำหยดเก่าที่ไม่ใช้แล้วในแปลงเกษตรของตนเองมาแทนการหาซื้อเชือกจากข้างนอก ส่วนวัสดุรองพื้นนำวัชพืชจำพวกผักตบชวาและหญ้าไซ ที่เป็นปัญหากีดขวางทางน้ำในแก่งละว้ามาใช้ประโยชน์

* เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนาต้นแบบและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากวัชพืชภายในพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้า จังหวัดขอนแก่น(ทุนวิจัย วช.) และโครงการศึกษาและจัดการวัสดุท้องถิ่นเพื่อพัฒนากลุ่มอาชีพในเขตอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น (ทุนวิจัย มข.)

   พัชรินทร์ ฤชุวรารักษ์ เรียบเรียงบทความ