*นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Huaqiao University; HQU) จัดงานเสวนาวิชาการไทย-จีน ในโอกาสเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน ภายใต้การจัด “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2568 (Thailand Research Expo 2025)” ระหว่างวันที่ 16 – 20 มิถุนายน 2568 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ในการนี้ นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับเชิญจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เข้าร่วมงานเสวนาวิชาการในโอกาสเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน ในฐานะ “ผู้ร่วมอภิปราย (Panelist)” ในหัวข้อเรื่อง “Leveraging the potential of green digital and green energy for a sustainable future” (การใช้ศักยภาพของดิจิทัลสีเขียวและพลังงานสะอาดเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน) ทั้งนี้นักวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น มุมมอง ในประเด็นความร่วมมือด้านดิจิทัลและพลังงานสะอาดกับนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญในสาขาดังกล่าวจากประเทศจีน ได้แก่ สถานการด้านพลังงานทางเลือกในไทยและจีนในปัจจุบัน แนวโน้มการใช้พลังงานของโลกในอนาคต กลไกการทำงานเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน การพัฒนางานวิจัยควบคู่ไปกับการพัฒนาการศึกษาและพัฒนานักวิจัยด้านพลังงานทางเลือก นวัตกรรมดิจิทัลต่อการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียวในระดับโลก ความสำคัญของข้อมูลต่อการขับเคลื่อนประสิทธิภาพและความยั่งยืนของพลังงานสีเขียว ข้อจำกัดต่อการนำเทคโนโลยีดิจิทัลสีเขียวมาใช้ในวงกว้างโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา และบทบาทของจีนในการผลักดันการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือกในระดับนานาชาติ


การเข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้ ทำให้นักวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับรู้ถึงข้อมูลข่าวสารใหม่ ๆ ในประเด็นภูมิทัศน์ใหม่ ที่เป็นการเปิดยุคใหม่แห่งการเชื่อมโยงและการพัฒนาระดับโลก ที่มีความท้าทายและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่นักวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น บันทึกได้จากเวทีเสวนาจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัยการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนจีนในอนาคต ทั้งในแง่ประเด็นด้านภูมิทัศน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ โลจิสติกส์ การค้า การลงทุนการพัฒนาทุนมนุษย์ และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี