สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมงานสัมมนาสุขภาพอีสาน 2025 (ISAN Wellness Summit 2025)

*นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เข้าร่วมงาน ISAN Wellness Summit 2025 ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด งานสัมมนานี้มุ่งเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมสุขภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงระดับโลก และสอดคล้องกับ 7 นโยบายหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านสุขภาพของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 690,000 ล้านบาท การจัดงานครั้งนี้จึงเป็นเวทีสำคัญที่ภาครัฐ เอกชน และภาควิชาการ ได้ร่วมมือกันผลักดันให้ภาคอีสานก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน

จุดแข็งของภาคอีสาน คือ ความหลากหลายด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นบริการสปา แหล่งน้ำแร่ธรรมชาติ คลินิกเวชศาสตร์วิถีชีวิต รวมถึงความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจโรงแรมและโรงพยาบาล เพื่อพัฒนารูปแบบการให้บริการสุขภาพแบบครบวงจรให้ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ

แนวโน้มที่น่าจับตามองในอุตสาหกรรมสุขภาพ คือ การเติบโตของตลาดผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ขั้นสูง ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 419,650 ล้านบาทในปี 2567 และคาดการณ์ว่าจะขยายตัวสู่ระดับ 1.25 ล้านล้านบาทภายในปี 2573 ขณะที่อุตสาหกรรมเวชศาสตร์ความงามยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี ครอบคลุมตั้งแต่การฉีดโบท็อกซ์ ฟิลเลอร์ เลเซอร์ผิว ไปจนถึงการทำศัลยกรรมตกแต่งที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

ภายในงาน มีบริษัทชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวน 27 บริษัท ร่วมนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสุขภาพ อาทิ ห้องบำบัดด้วยออกซิเจนแรงดันสูง (Hyperbaric Oxygen Chamber), ระบบรักษามะเร็งด้วยโปรตอน (Proton Therapy System), อุปกรณ์ออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ, สกินแคร์เวชสำอาง, ผลิตภัณฑ์เสริมภูมิคุ้มกันระดับพรีเมียม และกระเบื้องกันลื่นมาตรฐานญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ยังมีการจัดสัมมนาทางวิชาการใน 11 หัวข้อ พร้อมเวิร์กช้อปที่น่าสนใจ เช่น เวชศาสตร์วิถีชีวิต เทคโนโลยีแขนเทียมจากซิลิโคนและยางพารา เซรั่มแคปซูล และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้สร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ตลอดจนขยายความร่วมมือทางธุรกิจ การเจรจาการค้า และการดึงดูดการลงทุนระหว่างประเทศ เพื่อผลักดันให้ “ภาคอีสาน” ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสุขภาพของประเทศและภูมิภาคอาเซียน

ในส่วนของนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น การเข้าร่วมงานนี้เป็นโอกาสสำคัญในการนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้กับงานวิจัยและพัฒนาในระดับชุมชน เพื่อสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ระหว่างภาคอีสานและอุตสาหกรรมสุขภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดแข็งของประเทศไทย และสามารถต่อยอดสู่การเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมสุขภาพและอุตสาหกรรมบริการทั้งในระดับประเทศและระดับอาเซียนในอนาคต