การสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย-จีน

    *นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

    ประเทศไทยและประเทศจีน ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๑๘ ปี ๒๕๖๘ ครบรอบ ๕๐ ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทย เป็น ๕๐ ปีทองแห่งมิตรภาพไทย-จีน แต่ในทางปฏิบัติมิตรภาพไทย-จีน สืบทอดต่อกันมานับพันปี จนมีคำกล่าวที่ว่า “จีน-ไทย ไม่ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิตรภาพไทย-จีน ที่ผูกพันกันทางสายเลือด ก่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเข้าใจกัน การสนับสนุนซึ่งกันและกัน ความสัมพันธ์ไทย-จีน ได้ก้าวสู่ยุคใหม่อีกระดับ ไทยกับจีนได้ยกระดับความสัมพันธ์เป็น “หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” (Comprehensive Strategic Partnership) ในปี ๒๕๕๕ ในปี ๒๕๖๕ รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ออกถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย – จีน เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น และในปี ๒๕๖๘ รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ออกถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน และการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย-จีน เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น ด้วยวิสัยทัศน์ที่มุ่งมองไปข้างหน้า และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง รวมถึงเร่งรัดการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมภายใต้แผนพัฒนา ๕ ปีว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าและเศรษฐกิจระหว่างรัฐบาลราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน (พ.ศ. ๒๕๖๘ – ๒๕๗๒)

    ความร่วมมือทั้งหมดดังกล่าว มีเป้าหมายโดยรวมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน การลดความยากจน การดำเนินโครงการที่สร้างความอบอุ่นให้กับประชาชนของทั้งสองประเทศ รวมถึงการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างประชาชนต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของไทยและจีน

    สำหรับประเทศไทยดำเนินการพัฒนาประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bioeconomy-Circular Economy- Green Economy: BCG) ในส่วนของสาธารณรัฐประชาชนจีนดำเนินการพัฒนาประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) รวมถึงข้อริเริ่ม ๓ ข้อริเริ่ม ประกอบด้วย ข้อริเริ่มด้านการพัฒนาระดับโลก (Global Development Initiative: GDI) ข้อริเริ่มด้านความมั่นคงระดับโลก (Global Security Initiative: GSI) และข้อริเริ่มด้านอารยธรรมระดับโลก (Global Civilization Initiative: GCI)  

    การสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย-จีน ก่อให้เกิดความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทยและจีน ประเทศจีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของไทย จีนเป็นแหล่งนักท่องเที่ยวต่างชาติหลักของไทย และเป็นแหล่งเงินลงทุนจากต่างประเทศหลักของประเทศไทย วิสาหกิจจีนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เซมิคอนดักเตอร์ แบตเตอรี่ พลังงานสะอาด รถยนต์ไฟฟ้า อิเล็โทรนิกส์ขั้นสูง อันเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งและมั่นคงให้กับประเทศไทย รวมถึงเป็นการวางรากฐานพัฒนาประเทศไทยในระยะยาว สำหรับประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนยุทธศาสตร์ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (BRI) ของจีนที่ประกอบด้วยเส้นทางเศรษฐกิจสายไหม และเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ ๒๑ รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน นอกจากนี้ไทยและจีนจะร่วมกัน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เนื่องจากความสัมพันธ์ไทย-จีน ขึ้นอยู่กับมิตรภาพระหว่างประชาชน ประชาชน คือ แรงผลักดันหลักที่อยู่เบื้องหลังความสัมพันธ์ไทย-จีน เพื่อสร้างเป้าหมายใหม่ ๆ ร่วมกันในอนาคตที่มีความไม่แน่นอนบนความแน่นอนของความสัมพันธ์ไทย-จีน ประเทศไทยพร้อมที่จะร่วมกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการสร้างการเติบโตอย่างสมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม บนพื้นฐานหลักปรัชญาของการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง