RSDI เร่งส่งเสริมเศรษฐกิจสังคมสูงวัย

0
97

ทั้งนี้ โครงการฯ ได้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลชุมชนในพื้นที่ เทศบาลตำบลบึงโขงหลง อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ และ อบต.ช่องสามหมอ อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้จัดการประชุม “แนวทางสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสวัสดิการสังคมผู้สูงวัย” ใน 2 จังหวัดดังกล่าว เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินการด้านการส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจของผู้สูงวัยในพื้นที่ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งระดมความคิดและข้อเสนอแนะต่อกิจกรรมการปฏิบัติการของโครงการฯ ในระยะต่อไป โดยเชิญผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนกลุ่มอาชีพผู้สูงอายุและผู้นำชุมชน จำนวนประมาณจังหวัดละ 30 คน

การประชุมจังหวัดชัยภูมิ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ณ ห้องประชุมห้องประชุมประชาบดี สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชัยภูมิ โดยมีนายวิศิษฐ์ ผลดก พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชัยภูมิ เป็นประธานเปิดการประชุม จากนั้น ดร.จรัญญา วงษ์พรหม นักวิจัย RSDI หัวหน้าโครงการวิจัย รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงความก้าวหน้าของโครงการ ก่อนที่ นายธนะจักร เย็นบำรุง และ นางสาวญฐมน ศรีธงชัย นักวิจัย RSDI จะดำเนินการเปิดเวทีให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้นำเสนอภารกิจในการเสริมสร้างเศรษฐกิจผู้สูงอายุในพื้นที่ และแลกเปลี่ยนความเห็นว่า สมควรจะขับเคลื่อนโครงการปฏิบัติการในพื้นที่วิจัย โดยสรุปว่า ควรจะมีการทบทวนระบบการสร้างงาน และฝึกอาชีพผู้สูงอายุในพื้นที่ โดยการเพิ่มทักษะในการทำอาชีพที่สอดคล้องกับความสามารถของผู้สูงอายุ และมีอัตลักษณ์ของชุมชนที่แตกต่างกันไป เน้นรูปแบบที่ตอบสนองตลาด และมีคุณภาพที่ดี หน่วยงานต่าง ๆ ควรช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า หรือการตลาดให้กว้างขวางขึ้น ขณะที่ต้องเน้นการสร้างความรู้ ความตระหนักด้านการออม และระบบประกันตน ในกลุ่มผู้เตรียมเป็นผู้สูงอายุ อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในอนาคตแก่ผู้สูงอายุและครอบครัวด้วย

ส่วนการประชุมจังหวัดบึงกาฬ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ณ ห้องประชุมภูทอก ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดบึงกาฬ นายวิมล งามวงษ์ รก.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดบึงกาฬ เป็นประธานกล่าวเปิดและรายงานภารกิจด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุของ พมจ.บึงกาฬ ในที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะการขับเคลื่อนกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การอบรมอาชีพผู้สูงอายุให้เหมาะสมกับวัยและความต้องการของผู้สูงอายุ การสร้างตลาดจำหน่ายสินค้าชุมชนที่ผลิตโดยผู้สูงอายุ รวมทั้งการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจผู้สูงอายุ เช่น “5 เสือ แรงงาน” องค์การบริหารส่วนจังหวัด สถิติจังหวัด พัฒนาการจังหวัด คลังจังหวัด ธนาคารออมสิน ฯลฯ ประสานงานเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมการสร้างความมั่นคงเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ร่วมกัน และการจัดการอบรมสร้างความรู้ ความตระหนักด้านการออม และสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ แก่ผู้สูงอายุ ทั้งหมดจะสามารผลักดันให้ผู้สูงอายุมีศักยภาพและบทบาทในการสร้างเศรษฐกิจครัวเรือนอย่างยั่งยืน นำไปสู่การยอมรับจากครอบครัว ลูกหลานและชุมชนต่อไป

อนึ่ง “โครงการวิจัยการศึกษาการทำงาน การออม และสวัสดิการเพื่อสร้างความมั่นคงของผู้สูงอายุในการรองรับสังคมสูงวัย” จะนำข้อมูลที่ได้จากการประชุมทั้ง 2 ครั้ง ไปวางแผนจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการในพื้นที่ ระหว่างเดือนสิงหาคม ถึง กันยายน 2563 และประเมินผลเพื่อจัดทำรายงานวิจัยที่มีข้อเสนอต่อทั้งระดับพื้นที่และนโยบาย ภายในปีงบประมาณ 2563 นี้

ขอขอบคุณ
ข่าว : ธนะจักร เย็นบำรุง
ภาพ : จรัญญา วงษ์พรหม