สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมคัดเลือกเทคโนโลยีพลังงานเพื่อพัฒนาเป็นโครงการร่วม ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุปทาน

*นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัย ขอนแก่น ได้รับเชิญจากสำนักงานพลังงานจังหวัดขอนแก่น เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้แก่กลุ่มวิสาหกิจเกษตรกรภายใต้ “กิจกรรมคัดเลือกเทคโนโลยีพลังงานเพื่อพัฒนาเป็นโครงการร่วมระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุปทาน” ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านโสกจาน ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น โดยนักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้บรรยายให้ความรู้กับกลุ่มวิสาหกิจเกษตรกร ในหัวข้อเรื่องประกอบด้วย 1) ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ประเภทน้ำผิวดิน และน้ำบาดาล (Solar Pump) 2) ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเคลื่อนย้ายได้ 3) ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) และ 4) ระบบผลิตก๊าซชีวภาพ (Bio gas technology)

ผลลัพธ์จากการเข้าร่วม “กิจกรรมคัดเลือกเทคโนโลยีพลังงานเพื่อพัฒนาเป็นโครงการร่วมระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุปทาน” ของนักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่ากลุ่มวิสาหกิจเกษตรกรต่าง ๆ มีความเข้าใจและสามารถวิเคราะห์ความต้องการในการขอรับการส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานในห่วงโซ่อุปทานผลิตภัณฑ์ชุมชนของกลุ่มได้ อาทิเช่น 1) กลุ่มวิสาหกิจเกษตรกรผู้ปลูกเมล่อน ขอรับการสนับสนุนระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แบบน้ำบาดาล และระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา 2) กลุ่มวิสาหกิจเกษตรกรผู้เลี้ยงวัว ขอรับการสนับสนุนระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แบบรถเข็น 3) กลุ่มวิสาหกิจเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ขอรับการสนับสนุนระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ระบบน้ำหยด นอกจากนี้นักวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้คำแนะนำการเตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มวิสาหกิจเกษตรกรที่มีความพร้อมในด้านการบริหารจัดการทั้งในด้านการผลิต การแปรรูป การตลาด และเงินทุนหมุนเวียนภายในกลุ่ม เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็น “ชุมชนพลังงานทดแทนด้วยกลไกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” ภายใต้หลักการ “รัฐร่วมทุน ชุมชนร่วมสร้าง”