เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 ทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักวิชาการเกษตรจาก สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 (สวพ.3) ลงปฏิบัติการร่วมกับชุมชนในการสาธิตเผาถ่าน และการจัดเตรียมโครงสร้างการปลูกพืชผักลอยน้ำ มีแกนนำและสมาชิกจากชุมชนที่อยู่ริมแก่งละว้าในหมู่ที่ 7 และ 13 บ้านชีกกค้อ ต.เมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น จำนวน 20 คนเข้าร่วมกิจกรรม โดยมีเป้าหมายของการดำเนินกิจกรรมเพื่อนำวัชพืชที่เป็นปัญหาในแก่งละว้ามาใช้ประโยชน์ เช่น ไมยราบยักษ์ ผักตบชวา และหญ้าไซ โดยพบว่าวัชพืช 3 ชนิดนี้แพร่ระบาดอยู่ในเขตพื้นที่รอบแก่งละว้าจำนวนมาก ซึ่งกีดขวางเส้นทางเดินน้ำ และสภาพพื้นดินรอบแก่ง โดยมีกิจกรรมในการใช้ประโยชน์จากไมยราบยักษ์ด้วยการนำมาเผาเป็นถ่าน ผักตบชวาและหญ้าไซนำมาใช้ประกอบเป็นวัสดุปลูกสำหรับการปลูกพืชผักลอยน้ำ
กิจกรรมการเผาถ่านจากวัสดุไมยราบยักษ์ ดำเนินโครงการโดย ดร.หิรัญ แสวงแก้ว เป็นการทดลองสาธิตการเผาถ่านโดยวิทยากรชุมชนที่มีประสบการณ์ คือ นายคงเดช เข็มนาค ด้วยเตาเผาถ่านแนวตั้งขนาด 200 ลิตร โดยชาวบ้านทำการตัดไมยราบยักษ์ในเขตพื้นที่ริมน้ำแก่งละว้าใกล้หมู่บ้านชีกกค้อ นำมาตากไม้ให้แห้งไว้ล่วงหน้าแล้ว 3 สัปดาห์ แต่มีปัญหาฝนตกเป็นระยะ ทำให้ไม้ไม่แห้งสนิท จึงคาดว่าอาจต้องใช้เวลาในการเผาถ่านไล่ความชื้นนานมากขึ้น แต่ผลการทดลองเผาถ่านกลับใช้ระยะเวลาไม่นาน น้อยกว่า 3 ชั่วโมง ซึ่งมีข้อสังเกตว่า ไมยราบยักษ์เป็นไม้ที่มีลำท่อนขนาดเล็ก จึงเผาอบได้ถ่านเร็ว แต่จะได้ถ่านปริมาณน้อยกว่าไม้อื่นทั่วไปที่มีลำท่อนขนาดใหญ่ หลังจากปล่อยถ่านทิ้งไว้ให้เย็นลงเป็นเวลา 1 คืน ก็สามารถเปิดเตานำถ่านไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป
กิจกรรมการปลูกพืชผักลอยน้ำ ดำเนินโครงการโดย ดร.พัชรินทร์ ฤชุวรารักษ์ จิตติ กิจพงษ์ประพันธ์ และ ดร.กุศล ถมมา เป็นการจัดทำวัสดุโครงสร้างสำหรับทำแพปลูกผักลอยน้ำ โดยใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น คือ หญ้าคาหญ้าไซ ผักตบชวา ไม้ไผ่ และตะกร้าพลาสติกบรรจุพืชผักซึ่งเหลือทิ้งอยู่ในตลาดสดจำนวนมาก จากการหารือกับแกนนำชุมชนจะมีการทำแพผักลอยน้ำ 3 รูปแบบ คือ 1) แพหญ้าคาหญ้าไซไม่ต้องใช้โครงสร้างไม้ไผ่ 2) แพโครงสร้างไม้ไผ่ใช้วัสดุปลูกหลักคือผักตบชวา และ 3) แพโครงสร้างไม้ไผ่ร่วมกับตะกร้าพลาสติก ผลการดำเนินการได้จัดเตรียมแพโครงสร้างไม้ไผ่ทั้ง 2 รูปแบบแล้วเสร็จ ส่วนแพหญ้าคาหญ้าไซมีน้ำหนักมาก ไม่สามารถโยกย้ายด้วยแรงคนข้ามฝั่งน้ำผ่านพื้นดินไปยังอีกฝั่งน้ำ จำเป็นต้องหาแนวทางแก้ไขต่อไป
หลังจากดำเนินงานทั้ง 2 กิจกรรมแล้วเสร็จ มีการประชุมหารือเพื่อดำเนินกิจกรรมในครั้งถัดไป สรุปความว่า การเผาถ่านจะมีการฝึกปฏิบัติการเผาถ่านให้สมาชิกในชุมชนอย่างน้อย 11 ราย ส่วนการปลูกผักลอยน้ำจะมีการดำเนินกิจกรรมนำกล้าผักปลูกลงแพลอยน้ำทั้ง 3 รูปแบบในช่วงหลังกลางเดือนสิงหาคม
* เป็นกิจกรรมภายใต้ “โครงการพัฒนาต้นแบบและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากวัชพืชภายในพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้า” (ทุนวิจัย วช.) และ “โครงการศึกษาและจัดการวัสดุท้องถิ่นเพื่อพัฒนากลุ่มอาชีพในเขตอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น” (ทุนวิจัย มข.)
พัชรินทร์ ฤชุวรารักษ์ และหิรัญ แสวงแก้ว เรียบเรียงบทความ