*นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศไทย ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีบุคลากรและความเชี่ยวชาญในหลาย ๆ ศาสตร์ ได้แก่ กลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ประกอบด้วย คณะเกษตรศาสตร์ คณะเทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ กลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ประกอบด้วย คณะพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ กลุ่มสาขาวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ประกอบด้วย คณะศึกษาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น และวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ กลุ่มสหสาขาวิชา ประกอบด้วย บัณฑิตวิทยาลัย วิทยาลัยนานาชาติ และที่สำคัญ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีวิทยาเขตที่จังหวัดหนองคาย เปิดสอน คณะสหวิทยาการ อีกด้วย

จึงอาจจะกล่าวได้ว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีความพร้อมและความเชี่ยวชาญในหลากหลายศาสตร์ที่สามารถรับใช้และตอบสนองต่อความต้องการของสังคมไทยในยุคปัจจุบันได้ ทั้งนี้จากการประชุมสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ครั้งที่ 2/2568 ที่เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว ได้มีแนวคิดและนโยบายให้คณาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ความสนใจศึกษาในเรื่องประเด็นของความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการแก้ไขปัญหาของสมาชิกในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region, GMS) ที่ประกอบด้วยประเทศ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน (มณฑลยูนนาน) อาทิเช่น การพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าชายแดน การบริหารและจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และความร่วมมือด้านการศึกษาและวัฒนธรรม เป็นต้น

มุมมองของ ดร.ณรงค์ชัย อัครเสรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเนื่องจากหาวิทยาลัยขอนแก่น มีที่ตั้งอยู่ในศูนย์กลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความเชี่ยวชาญสูงในหลาย ๆ ศาสตร์ มีความพร้อมในหลาย ๆ ด้านทั้งทรัพยากรบุคคลและเทคโนโลยี ที่สำคัญมีวิทยาเขตจังหวัดหนองคาย เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ มีชายแดนติดกับ สปป.ลาว ที่เป็นประตูเปิดไปสู่ประเทศกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและช่วยแก้ไขปัญหาข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้

อุปนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น นายสรุพล เพชรวรา ให้ความเห็นว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่สามารถเชื่อมโยงประเทศไทยกับกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีบทบาทที่สำคัญในการเป็นคลังสมอง (Think Tank) ในการศึกษาวิจัยที่รู้ลึก รู้จริง รู้ชัด ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ให้ข้อมูลเชิงลึกกับสังคม และสามารถเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ชี้นำสังคมในด้านบวกได้

ในส่วนของ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีนโยบายให้๕ราจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ความสนใจประเด็นปัญหาข้ามพรมแดนและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอย่างจริงจัง ผ่านการศึกษาวิจัยและสังเคราะห์องค์ความรู้ของศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อนำผลของการศึกษาวิจัยมาใช้ประโยชน์ในการเป็นแนวทางการกำหนดนโยบายสาธารณะ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้น ทั้งในส่วนของประเทศไทยและแประเทศเพื่อนบ้าน

ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ดร.จีรนุช เสงี่ยมศักดิ์ ให้ความเห็นว่า งานวิจัยด้านการจัดการปัญหาข้ามพรมแดนและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ต้องบูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน มีความจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับเครือข่ายในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ทั้งในส่วนของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ตามคำกล่าวที่ว่า “ก้าวไปได้ไกล ต้องก้าวไปด้วยกัน” (Go Far Go Together)

กล่าวโดยสรุป มหาวิทยาลัยขอนแก่นกับบทบาทในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งภาควิชาการ ภาครัฐบาล และภาคเอกชน เพื่อพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือข้ามพรมแดน ขับเคลื่อนการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้และงานวิจัยจากศาสตร์ต่าง ๆ