เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 โครงการวิจัยและพัฒนาระบบการจัดการขยะอาหารแบบมีส่วนร่วมของภาคีหุ้นส่วน กรณี ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดย ผศ.ดร.มานะ นาคำ อ.พะเยาว์ นาคำ และ ดร.พัชรินทร์ ฤชุวรารักษ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงพื้นที่เข้าร่วมเรียนรู้การจัดการขยะอาหารของบ้านหนองหิน หมู่ที่ 8 ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็น 1 ใน 7 หมู่บ้านนำร่องการดำเนินโครงการครอบครัวสีเขียวของเทศบาลเมืองศิลา โดยพบว่าชุมชนบ้านหนองหินมีการจัดการขยะอาหารภายใต้การมีส่วนร่วมของแกนนำและคนในชุมชนเป็นอย่างดีภายในช่วงเวลาดำเนินกิจกรรมเพียง 2 เดือน (กรกฎาคม – สิงหาคม 2565)
ผลของการจัดการขยะอาหารภายในหมู่บ้านหนองหิน หมู่ที่ 8 ทำให้ปริมาณขยะของชุมชนลดลงจาก 4.5 ตันต่อสัปดาห์ เป็น 3.8 ตันต่อสัปดาห์ โดยระบบการจัดการขยะอาหารของชุมชนเริ่มจากให้ครอบครัวสีเขียวทำการคัดแยกขยะตนเอง ซึ่งมีทั้งครอบครัวที่คัดแยกแล้วยังสามารถจัดการขยะด้วยตนเองโดยการนำไปผลิตปุ๋ยหมักและน้ำหมักใช้ประโยชน์ในการเกษตรจนมีผลผลิตปลอดสารจำหน่ายสร้างรายได้ ส่วนครอบครัวที่ทำเฉพาะการคัดแยกจะนำขยะอินทรีย์ไปใส่ถังสีตั้งวางไว้ในช่วงเช้าให้รถซาเล้งของคนในชุมชนที่เทศบาลจัดจ้างมารวบรวมจัดเก็บแล้วขนส่งไปกำจัดโดยแปรรูปเป็นน้ำหมักอินทรีย์สำหรับนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรต่อไป
ตาตุ่น (นายตุ่น แงวกุดเรือ) เจ้าของรถซาเล้งที่ทำหน้าที่จัดเก็บรวมรวมขยะอาหารของชุมชนไปทำน้ำหมัก ได้นำน้ำหมักไปใช้ประโยชน์ โดยการนำทั้งน้ำหมักและกากปุ๋ยใส่นาบัวของตนเอง พบว่า ผลผลิตของดอกบัวเพิ่มมากขึ้นจาก 100-200 ดอกต่อรอบ เป็น 700-800 ดอกต่อรอบ และมีสัตว์น้ำจำนวนมาก ทั้งปู ปลา และหอย โดยมีหอยจำนวนมากที่ตาตุ่นสามารถนำไปขายสร้างรายได้
นอกเหนือจากการจัดการขยะอาหารแบบครบวงจรที่สามารถจัดการขยะอาหารได้อย่างสมบูรณ์ เกิดการหมุนเวียนนำขยะอาหารกลับไปใช้ประโยชน์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG: Bio-Circular-Green Economy) และยังเป็นการเกษตรอินทรีย์ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพทั้งของผู้ผลิตและผู้บริโภคแล้ว เพื่อให้เกิดการรณรงค์และขยายผลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างตลาดทางเลือกให้กับผู้ผลิตสินค้าปลอดสารของชุมชน เทศบาลเมืองศิลาและชุมชนจึงร่วมกันจัดกิจกรรม “ตลาดนัดชุมชนคนหนองหินรักษ์สิ่งแวดล้อม” โดยเริ่มต้นจัดกิจกรรมครั้งแรกในช่วงเช้าของวันที่ 15 กันยายน 2565 กิจกรรมดังกล่าวมีการรณรงค์ไม่ใช้ถุงพลาสติก โดยใช้ใบบัว ใบตอง กระเป๋า และถุงผ้าแทน
ความสำเร็จของชุมชนบ้านหนองหิน หมู่ที่ 8 ภายในช่วงเวลาเริ่มต้นเพียง 2 เดือน สามารถลดปริมาณขยะอาหาร มีการขยายสมาชิกครอบครัวสีเขียวเพิ่มมากขึ้น เกิดการนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตร มีผลผลิตพืชผักปลอดสารสำหรับบริโภคและจำหน่ายในชุมชน เป็นผลจากความสามัคคีและความร่วมมือกันของคนในชุมชนทุกฝ่ายภายใต้การนำของผู้ใหญ่จี๊ด (นายวรโชติ จาระศรี) ครอบครัวสีเขียว จำนวน 183 ครัวเรือน และการติดตามใกล้ชิดของเทศบาลเมืองศิลา โดยทีมงานโครงการฯมีส่วนร่วมสนับสนุนด้านความรู้ทางวิชาการ