เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ดร.พัชรินทร์ ฤชุวรารักษ์ และดร.วิเชียร เกิดสุข ภายโต้โครงการสังเคราะห์และจัดการองค์ความรู้ด้านการจัดการขยะอาหาร ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าด้านการจัดการขยะอาหาร เขตตำบลบ้านดง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ของเกษตรกรตัวอย่าง นายบุญสี ศรีกุล ที่ได้รับรางวัลครอบครัวร่มเย็น ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของจังหวัด

          พ่อบุญสี ดำเนินเกษตรผสมผสานตามรอยพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ในช่วงชีวิตหลังวัยเกษียณมายาวนานกว่า 6-7 ปี โดยใช้หลักแนวคิด “ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก” ภายในพื้นที่กว่า 6 ไร่ มีหลากหลายกิจกรรมที่ผสมผสานกัน ประกอบด้วย นาข้าว มะม่วง พืชผัก (พริก ถั่วฝักยาว) เลี้ยงปลา ไก่ไข่ และมีการเผาถ่านที่ได้ผลผลิตน้ำส้มควันไม้ไล่แมลง โดยมีข้อคิดสำหรับการใช้ปุ๋ยคอก คือ “ขี้หมูใส่พืชหัว ขี้วัวใส่พืชใบ ขี้ไก่ใส่พืชผล” นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาสูตรอาหารเพื่อลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์สำหรับเลี้ยงไก่ไข่จากวัสดุทางการเกษตร หยวกกล้วยและหญ้าหวาน สามารถลดการใช้อาหารสัตว์สำเร็จรูปเหลือเพียงร้อยละ 7.14 ของปริมาณอาหารทั้งหมด

ด้วยความเป็นจิตอาสาทำงานเพื่อสังคมชุมชนบ้านดง เมื่อเห็นสถานการณ์ปัญหาด้านการจัดการขยะชุมชนเพิ่มมากขึ้นในเขตตำบลบ้านดง จึงเกิดแนวคิดต่อยอดจากการคัดแยกขยะรีไซเคิล มาสู่การนำขยะขวดน้ำอัดลมมาผลิตเป็นไม้กวาด สามารถสร้างรายได้ให้กลุ่มผู้ผลิตไม้กวาด 10,000 บาท/คน/รอบ และในปี 2566 เริ่มนำเศษวัสดุจากผ้ามาทำพรมเช็ดเท้าในชมรมผู้สูงอายุของตำบล เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ใช้กิจกรรมยามว่างให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน สามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายพรมเช็ดเท้าในราคาผืนละ 35 บาท

นอกเหนือจากขยะรีไซเคิล ยังมีขยะอาหารที่เป็นปัญหาสำคัญของตำบลบ้านดง ซึ่งมีพื้นที่อยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เขื่อนอุบลรัตน์และอุทยานภูเก้าภูพานคำ ก่อให้เกิดร้านอาหารและรีสอร์ทจำนวนมาก ส่งผลให้ปริมาณขยะอาหารเพิ่มมากขื้นอย่างรวดเร็ว การกำจัดขยะอาหารด้วยแมลงโปรตีนจึงเป็นทางเลือกใหม่ที่เข้ามาช่วยเสริมการจัดการขยะอาหารของชุมชน มีข้อเด่นสำคัญคือ สามารถกำจัดขยะอาหารได้ทุกชนิด มีผลผลิตสำคัญ คือ 1) ตัวหนอน เป็นอาหารสัตว์คุณภาพสูง ช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้สัตว์ และช่วยลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ และ 2) ปุ๋ยมูลหนอน มีธาตุอาหารพืชและมีสารต้านจุลินทรีย์ที่ช่วยให้พืชเจริญเติบโตแข็งแรงไม่เป็นโรค จากศักยภาพของพ่อบุญสีที่มีทั้งความเป็นจิตอาสา นักพัฒนา และนักทดลอง จึงเหมาะแก่การเป็นเกษตรกรนำร่องในการนำขยะอาหารและเศษวัสดุการเกษตรกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยการเลี้ยงหนอนแมลงโปรตีน โดยเริ่มดำเนินกิจกรรมตั้งแต่ เมษายน 2566 เป็นต้นมา มีผลการดำเนินงานดังนี้

          ด้านการเลี้ยงหนอนแมลงโปรตีน พบว่ามีบางปัจจัยที่ต้องคอยดูแลเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง โดยเฉพาะการแตกไข่เป็นตัวหนอนได้น้อย แก้ไขโดยการบ่มไข่ด้วยใบตอง เพื่อให้ใบตองรักษาความชื้นทำให้ไข่แตกเป็นตัวได้ดี และมีการประยุกต์ทำชุดเซ็ทเลี้ยงหนอนที่ช่วยแก้ปัญหาสัตว์เล็กรบกวนและเลี้ยงหนอนง่ายขึ้น โดยตั้งวางกะละมังเปล่าลงในถุงมุ้งไนล่อน แล้วตั้งวางถาดอาหารเลี้ยงหนอนซ้อนทับสลับกัน 4-5 ชั้นตามต้องการ แล้วมัดปากถุงไว้เพื่อป้องกันสัตว์เล็ก หนู จิ้งจกที่เข้ามากินหนอน ส่วนกะละมังเปล่าที่ใช้รองด้านล่างเพื่อใช้แยกหนอนโตที่จะไต่ออกมาลงที่กะละมัง ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาคัดแยกหนอนที่โตแล้วออกจากหนอนเล็ก

ประโยชน์ของการเลี้ยงไก่ไข่ด้วยอาหารหนอน พบว่าไข่ไก่ที่ได้รับอาหารหนอนมีเปลือกแข็งไม่แตกง่าย ไข่แดงสีสวย ขนาดไข่สม่ำเสมอ พ่อบุญสีไม่ได้มุ่งหวังเรื่องการประหยัดต้นทุนค่าอาหารซึ่งเป็นประโยชน์สำคัญที่คนส่วนใหญ่ต้องการเลี้ยงแมลงโปรตีน เพราะพ่อมีสูตรอาหารเพื่อลดต้นทุนค่าอาหารอยู่แล้ว แต่มีประโยชน์สำคัญที่คุ้มค่า คือ ช่วยให้ไก่ที่เลี้ยงเจ็บป่วยตายลดลงอย่างชัดเจน ซึ่งแต่เดิมอายุไก่ไข่ที่เลี้ยงไว้ 100 ตัว จะทยอยตายหมดภายในรอบระยะเวลาการเลี้ยง 1 ปี จากการเป็นแผลที่ตูดไก่ แต่ไก่ชุดที่ได้รับอาหารหนอนทยอยตายน้อยมาก จากการเลี้ยงจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 2 ปีกว่า ยังคงเหลือไก่ 50-60 ตัว ที่ยังคงสามารถให้ไข่ไก่ นอกจากนี้ยังส่งผลให้มีแมลงวันหัวเขียวรบกวนในพื้นที่บ้านเรือนช่วงหน้าร้อนลดลงอย่างชัดเจน

          การเลี้ยงแมลงโปรตีนของพ่อบุญสี ยังอยู่ในช่วงพัฒนาการเลี้ยงให้ได้ประโยชน์สูงสุด ถึงแม้จะยังไม่ได้ผลชัดเจนด้านการกำจัดขยะอาหารของชุมชน แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการหมุนเวียนนำสิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่กลับมาใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายค่าอาหารและยารักษาโรคในการเลี้ยงสัตว์ และในอนาคตพ่อบุญสียังมีแนวคิดที่จะพัฒนาการเลี้ยงแมลงโปรตีนจากอาหารสัตว์ไปสู่อาหารคนต่อไป