วันที่ 17 ธันวาคม 2567 โครงการศึกษาและจัดการวัสดุท้องถิ่นเพื่อพัฒนากลุ่มอาชีพในเขตอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น โดย ดร.พัชรินทร์ ฤชุวรารักษ์ และนายจิตติ กิจพงษ์ประพันธ์ ลงพื้นที่บ้านหนองร้านหญ้า ตำบลหัวหนอง อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น (พื้นที่ข้างบ้านหลังวัดคาเฟ่) เพื่อติดตามสนับสนุนกิจกรรมการปลูกพืชลอยน้ำที่เน้นการใช้วัสดุท้องถิ่นเหลือทิ้งมาใช้ประโยชน์ และเน้นให้เกษตรกรเป็นผู้ปรับประยุกต์ใช้กิจกรรมการปลูกพืชลอยน้ำให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง ซึ่งพบว่า นายคงเดช เข็มนาค (พ่อเปี๊ยก) เกษตรกรแกนนำที่เชี่ยวชาญด้านพลังงานทดแทน (โซลาร์เซลล์ กังหันลม และเตาเผาถ่าน 200 ลิตร) และด้านการเกษตรในพื้นที่แก่งละว้า ได้ทดลองเบื้องต้นดัดแปลงภาชนะปลูกพืชลอยน้ำจากวัสดุเหลือทิ้งจำพวกกล่องโฟมเก่าและขวดพลาสติกมาทำเป็นทุ่นลอยน้ำ แล้วใช้ตะกร้าพลาสติกเก่าเป็นภาชนะปลูกพืช โดยมีภาชนะหลากหลายรูปแบบซึ่งแตกต่างกันที่ทุ่นลอยน้ำ มีทั้งแบบที่ใช้ทุ่นจากขวดพลาสติกอย่างเดียว แบบขวดพลาสติกร่วมกับกล่องโฟม และแบบกล่องโฟมอย่างเดียว เป็นต้น โดยแบบที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชของพ่อเปี๊ยกเป็นแบบขวดพลาสติกร่วมกับกล่องโฟม เพราะทำให้ทุ่นลอยตัวสูงเหนือระดับน้ำพอดี ไม่จมน้ำหรือสูงเหนือน้ำเกินไป โดยคาดว่าจะนำพืชผักทั้งผักพื้นบ้าน เช่น ใบบัวบก และผักเศรษฐกิจ เช่น ผักบุ้งจีน ผักบุ้งแก้ว ผักคะน้า หอมแขก หอมพม่า และผักกวางตุ้ง มาทำการทดลองปลูกพืชลอยน้ำชุดแรกในอาทิตย์หน้า ซึ่งจะมีการติดตามผลการเจริญเติบโตของพืชผักที่เหมาะสมกับการปลูกลอยน้ำต่อไป


นอกเหนือจากภาชนะปลูกพืชลอยน้ำ พ่อเปี๊ยกยังมีแนวคิดและนำวัสดุเหลือทิ้งอื่นมาใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร ได้แก่ กากกาแฟจากร้านกาแฟในพื้นที่ (บ้านหลังวัดคาเฟ่) และเศษวัชพืชอื่นจากแก่งละว้า เช่น สนม ผักตบชวา และกลีบบัว มาทำเป็นปุ๋ยหมัก โดยนำกากกาแฟและวัชพืชมาวางเป็นชั้นสลับกับปุ๋ยคอก แล้วหมักทิ้งไว้จนกระทั่งกลายเป็นปุ๋ยสำหรับบำรุงพืชในแปลงเกษตรได้เป็นอย่างดี และกำลังพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ปุ๋ยหมักคุณภาพสูงสำหรับสร้างรายได้ในอนาคต โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นช่วยสนับสนุนด้านวิชาการ อาจกล่าวได้ว่าพ่อเปี๊ยกเป็น “นวัตกรชาวบ้าน” ที่สามารถคิดค้นนำสิ่งไร้ค่าที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านการเกษตรของตนเองอย่างคุ้มค่า สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่ทันสมัยสอดรับกับการแก้ปัญหาในยุคปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นการนำทรัพยากรที่มีอยู่กลับมาหมุนเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่อนาคตต่อไป
โครงการภายใต้องค์กร สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ทุนสนับสนุนการวิจัยจากฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น