วันที่ 25-26 พฤษภาคม 2566 ดร.พัชรินทร์ ฤชุวรารักษ์ และดร.วิเชียร เกิดสุข ลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลด้านการจัดการขยะอาหารด้วยการเลี้ยงไส้เดือนดินที่ชุมชนจอมมณี และศูนย์จัดการขยะเพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากขยะ ตำบลวังสะพุง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งพบว่ามีบทเรียนจากการจัดการขยะอาหารด้วยการเลี้ยงไส้เดือนดิน ดังนี้
บทเรียนการจัดการขยะอาหารระดับครัวเรือน ของชุมชนจอมมณี 1-2 โดย คุณชาญยุทธ์ ปะทุมานนท์ คณะกรรมการชุมชนจอมมณี 1 ทำการกำจัดขยะอาหารด้วยการเลี้ยงไส้เดือนดินในถังซิเมนต์ทรงกลม ซึ่งประสบผลสำเร็จสูงในช่วง 1-4 ปีแรกของการดำเนินกิจกรรม มีการขยายครัวเรือนที่เลี้ยงทั่วทั้งชุมชนจอมมณี 1 และ 2 ส่งผลให้มีบุคคลหรือชุมชนภายนอกเข้ามาศึกษาดูงานเป็นจำนวนมาก ชุมชนสามารถสร้างรายได้จากการขายน้ำหมักและโดยเฉพาะพันธุ์ไส้เดือนดินมีราคาสูงถึงกก.ละ 700-1,500 บาท แต่ในระยะต่อมาการเลี้ยงไส้เดือนดินค่อยๆซบเซาลงจากความจำเป็นด้านภารกิจงานส่วนตัวของแต่ละครัวเรือนผู้เลี้ยงขาดความรู้และทักษะจึงเลี้ยงไม่รอด วัตถุดิบสำหรับเลี้ยงมีปริมาณไม่แน่นอนโดยเฉพาะในช่วงที่มีผู้เลี้ยงเพิ่มมากขึ้นหรือขาดแคลนวัตถุดิบจากสภาวะที่แห้งแล้ง และผลผลิตจากการเลี้ยงไส้เดือนดินที่จำหน่ายได้ลดน้อยลงเนื่องจากผู้มาศึกษาดูงานก็ลดน้อยลงเช่นกัน ชุมชนให้ข้อเสนอแนะว่าการส่งเสริมให้เกิดการเลี้ยงไส้เดือนดินอย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องมีการส่งเสริมด้านการตลาดและการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชน เนื่องจากชุมชนยังขาดทักษะด้านการตลาด ต้องการขยายช่องทางการขายสินค้าให้กว้างขวางมากขึ้นนอกเหนือจากการขายให้กับกลุ่มผู้มาศึกษาดูงาน รวมถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์หรือคุณภาพสินค้าให้ดียิ่งขึ้น
บทเรียนการจัดการขยะอาหารระดับชุมชน ของศูนย์การจัดการขยะเพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากขยะ โดย นายพันเดช บุญหนัก และนายวีระ ทองสุข (พ่อโต๊ะ) ในความรับผิดชอบของสมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณะ ที่มีบทบาททั้งด้านการส่งเสริมการเลี้ยงไส้เดือนดินในเขตพื้นที่อำเภอวังสะพุง และด้านจัดการขยะอาหารจากตลาดสดตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน โดยบทบาทด้านการจัดการขยะอาหาร ทางศูนย์มีการรับขยะเศษพืชผักผลไม้จากตลาดสดเทศบาลเมืองวังสะพุง มากำจัดด้วยการเลี้ยงไส้เดือนดินภายในโรงเรือนที่ประกอบด้วย ลานกองปุ๋ยหมัก รางระบายน้ำหมัก ถังซิเมนต์รองรับน้ำหมัก และระบบน้ำสำหรับพ่นกระจายน้ำให้กับกองปุ๋ยหมัก มีต้นทุนโรงเรือนประมาณ 400,000 บาท การจัดการขยะมีพ่อโต๊ะเป็นผู้รับผิดชอบหลัก เริ่มจากนำรถซาเล้งไปจัดเก็บเศษพืชผักจากตลาดสด การเตรียมวัสดุส่วนผสม และการดูแลรดน้ำปุ๋ยหมัก การผลิตแต่ละครั้งใช้เวลาการผลิตต่อรอบเพื่อย่อยสลายปุ๋ยหมักนานประมาณ 3 เดือน ซึ่งพบว่า การเลี้ยงในโรงเรือนมีพื้นที่กว้างทำให้ดูแลเลี้ยงไส้เดือนดินได้ง่ายกว่าเลี้ยงในถังซิเมนต์ การจัดการไม่ยุ่งยากเพราะกำจัดเฉพาะขยะเศษพืชผักจึงไม่มีขั้นตอนล้างหรือกรองขยะเศษอาหาร มีผลผลิตจากการเลี้ยงไส้เดือนดิน ประกอบด้วย พันธุ์ไส้เดือนดิน กก.ละ 300-700 บาท ปุ๋ยหมัก ถุงละ 20-30 บาท และน้ำหมัก ขวดละ 20 บาท ผลผลิตดังกล่าวจำหน่ายให้กับลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรในพื้นที่รอบเขตอำเภอวังสะพุง และผู้เข้ามาศึกษาดูงาน
การจัดการขยะด้วยการเลี้ยงไส้เดือนดินของศูนย์สามารถลดปริมาณขยะอาหารได้มากกว่า 50% โดยเฉพาะในช่วงปี 2561-2563 สามารถกำจัดขยะพืชผักได้วันละ 800 กก. – 1,000 กก. เกิดผลผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน ประมาณ 30 ตัน/ปี ในช่วงดังกล่าวมีโครงการและกิจกรรมส่งเสริมด้านการเลี้ยงไส้เดือนดินของชุมชนและหน่วยงานต่างๆ จำนวนมากที่เข้ามาเรียนรู้จากศูนย์ฯ เกิดการสร้างรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนของศูนย์ฯ จากการจำหน่ายผลผลิตให้กับผู้ศึกษาดูงานและการเป็นวิทยากรอบรมให้กับหน่วยงานหรือชุมชน แต่ในระยะต่อมาความนิยมในการส่งเสริมด้านการเลี้ยงไส้เดือนดินลดลง รายได้และกิจกรรมต่างๆของศูนย์ก็ลดลงด้วย สมาชิกและผู้ร่วมกิจกรรมจึงต้องแยกย้ายไปประกอบอาชีพส่วนตัวเพื่อหารายได้ให้ตนเองอยู่รอด แต่ศูนย์ก็ยังคงมีการกำจัดขยะอาหารด้วยการเลี้ยงไส้เดือนดินอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยสำคัญ คือ การเห็นความสำคัญของการลดปริมาณขยะด้วยการเลี้ยงไส้เดือนดินของศูนย์ฯที่ไม่เปลี่ยนไปตามกระแส และการมีจิตอาสาที่ทำงานด้วยใจรักของพ่อโต๊ะ โดยทำงานแบบไม่มีค่าจ้างรายเดือนแต่จะมีรายได้บางส่วนจากการขายผลผลิตไส้เดือนที่ไม่แน่นอน
ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา การเลี้ยงไส้เดือนดินเป็นทางเลือกสำหรับกำจัดขยะอาหารที่มีการส่งเสริมอย่างมากมาย แต่ในปัจจุบันกลับพบว่าการเลี้ยงไส้เดือนดินหลายแห่งล้วนล้มเลิกไป คงเหลือเฉพาะป้ายสาธิตให้ผู้สนใจมาเยี่ยมชม จากบทเรียนของชุมชนจอมมณี และศูนย์จัดการขยะฯ สะท้อนว่า การเลี้ยงไส้เดือนดินมีความเหมาะสมต่อการกำจัดขยะอาหารจำนวนมากประเภทขยะพืชผักผลไม้ แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นการเลี้ยงตามกระแสความนิยมที่ส่งเสริมให้เลี้ยงเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง ยังไม่เกิดความต่อเนื่องของการเลี้ยงอย่างยั่งยืนเพื่อการกำจัดขยะ เมื่อรายได้การจำหน่ายผลผลิตลดลงหรือเลี้ยงไม่รอดก็ไม่มีผู้สนใจเลี้ยงอีกต่อไป การเลี้ยงไส้เดือนดินจึงมีปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ ผลประโยชน์จากการเลี้ยงไส้เดือนดินต้องสามารถสร้างรายได้ให้ผู้เลี้ยงอยู่ได้ จำเป็นต้องมีการพัฒนาช่องทางจำหน่ายให้มีหลากหลายช่องทางเพื่อให้เกิดรายได้ที่มั่นคงและสม่ำเสมอ ซึ่งไม่ง่ายนักและเป็นโจทย์ใหญ่ของการพัฒนามาโดยตลอด การเลี้ยงไส้เดือนดินเพื่อกำจัดขยะอาหารจึงควรกำหนดเป้าหมายเฉพาะกลุ่มที่ชัดเจน ด้วยการเลือกกำจัดขยะอาหารประเภทพืชผักผลไม้ จากแหล่งกำเนิดขยะประเภทตลาดสดหรือแหล่งกำเนิดขยะพืชผักผลไม้อื่นๆ และกระทำภายใต้หน่วยงานหรือองค์กรที่รับผิดชอบเป็นผู้ดำเนินการด้วยตนเอง มากกว่าการคาดหวังให้แต่ละครัวเรือนเป็นผู้ดำเนินการ