*นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนการส่งเสริมความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาไทย-จีน ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่น โดยมีนายศุภลักษณ์ ปอนเกษม รองผู้อํานวยการฝ่ายวิชาการ นางสาวชัญญณัท จำปาราช หัวหน้าสาขาวิชาอาหารและโภชนาการ นายนราธิป เหลาแสง หัวหน้าสาขาการโรงแรมและบริการ และคณาจารย์จากงานความร่วมมือและภาษาจีน ให้เกียรติเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้
โดยในการประชุมนักวิจัยของสถาบันฯ ได้บรรยายถึงนโยบายระดับชาติของประเทศจีนในการส่งเสริมให้การศึกษาวิชาชีพขยายตัวไปทั่วโลก โมเดลความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาที่ประสบความสำเร็จ อาทิเช่น Lucan Workshop และ Banmo Academy สำหรับรูปแบบความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาที่นักวิจัยของสถาบัน ฯ นำเสนอต่อที่ประชุมคือ Lancang – Mekong Workshop (เวิร์กช็อปล้านช้าง-แม่โขง) โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการเรียน การฝึกอบรมวิชาชีพ การแลกเปลี่ยน และอื่น ๆ โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมณฑลยูนนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านวิทยาลัยอุตสาหกรรมหยูนอัน ภายใต้การกำกับของวิทยาลัยอาชีวศึกษาการเกษตรยูนนาน โดยมีแผนที่จะเป็นวิทยาลัยแห่งแรกในมณฑลยูนนานที่จัดตั้ง “เวิร์กช็อปล้านช้าง-แม่โขง” ในประเทศไทย ในระยะที่ 1 มุ่งเน้นที่สาขาการทำอาหาร และโภชนาการ และการบริการอาหาร การแลกเปลี่ยนอาจารย์ และนักศึกษา ในระยะที่ 2 จัดตั้งฐานฝึกอบรมในประเทศจีนและประเทศไทย สำหรับผู้มีความสามารถด้านการทำอาหารจีนและไทย รวมถึงการรับรองหน่วยกิตทางการศึกษา และอื่น ๆ จุดเด่นของเวิร์กช็อปล้านช้าง-แม่โขง คือ การบูรณาการทรัพยากรทางสังคม และสร้างรูปแบบการศึกษาที่เชื่อมช่องว่างระหว่างการศึกษาวิชาชีพและสอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม บูรณาการหลักสูตรการศึกษากับภาคธุรกิจ และการรับรองการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านอาชีวศึกษาที่ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม