RSDI มข.ร่วมกับอบต.โนนสะอาด ประชุมหาแนวทางจัดการขยะชุมชน

เมื่อวันพุธที่ 10 พฤศจิการยน พ.ศ. 2564 คณะผู้วิจัยโปรแกรมวิจัย “การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการจัดการขยะชุมชนแบบมีส่วนร่วมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” โดย ดร.หิรัญ แสวงแก้ว (หัวหน้าโปรแกรมวิจัย) และดร.พัชรินทร์ ฤชวรารักษ์ จากสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น (RSDI มข.) เข้าร่วมประชุมกับทีมงานของอบต.โนนสะอาด จำนวน 9 ท่าน นำทีมโดย นายกันยา สงฆ์คลัง รักษาการณ์ปลัดอบต. จ.ส.อ. ชัยชนะ  คำบอน หัวหน้าสำนักปลัด นายวรพนธ์ ผานคำ ผู้อำนวยการกองช่าง นายณัฐพล โสดาจันทร์ ผู้อำนวยการกองการศึกษา และ จ.ส.อ.พิธิพล ปลัดกอง นักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อปรึกษาหารือถึงการประสานความร่วมมือในการจัดการขยะชุมชนเขตพื้นที่อบต.โนนสะอาด ณ ห้องประชุมอบต.โนนสะอาด อำเภอแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น

ข้อมูลเบื้องต้นของ อบต.โนนสะอาด อำเภอแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น มีสภาพพื้นที่อยู่ใกล้ลำน้ำชี และจังหวัดชัยภูมิ มีพื้นที่ในความรับผิดชอบ 11 หมู่บ้าน จำนวนครัวเรือน 1,616 ครัวเรือน มีปริมาณขยะที่เก็บรวบรวมเพื่อนำไปกำจัดได้เดือนละ 45 ตัน และมีปริมาณขยะรีไซเคิลที่คัดแยกไว้เพื่อขายอีก 6 ตัน/เดือน มีการจัดการขยะต้นทางด้วยการจัดตั้งธนาคารขยะเพื่อชีวิต สำหรับให้สมาชิกในชุมชนคัดแยกขยะรีไซเคิลมาขาย มีจำนวนสมาชิกที่ได้รับการคุ้มครองสวัสดิการ 453 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 28 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งคาดว่าหากมีการรณรงค์และจัดกิจกรรมด้านการจัดการขยะในชุมชน จะช่วยเพิ่มสมาชิกที่ทำให้เกิดการคัดแยกขยะรีไซเคิลเพื่อลดปริมาณขยะต้นทางเพิ่มมากขึ้น

โดยมีผลสรุปเบื้องต้นของการประชุมปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อการจัดการขยะชุมชนในพื้นที่ ดังต่อไปนี้

1.ควรมีการจัดกิจกรรมด้านการลดการใช้ถุงพลาสติก เช่น ร้านค้าลดการใช้ถุง โครงการตลาดนัดปลอดถุงขยะ เช่น ใช้ถุงผ้าแทน หรือใช้ตะกร้าไม้ไผ่ไปจ่ายตลาดตามวิถีชีวิตดั้งเดิม โดยมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านหลายช่องทางในชุมชนก่อนการจัดกิจกรรม

2.การจัดการขยะอินทรีย์ ที่ประชุมบางส่วนมีความเห็นว่าควรมีการคัดแยกขยะอินทรีย์โดยเฉพาะขยะอินทรีย์ตามร้านค้า เพื่อให้มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ในรูปเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ หรือปุ๋ยหมักชีวภาพสำหรับบำรุงดินในพื้นที่การเกษตร แต่ที่ประชุมบางส่วนยังเห็นว่าขยะอินทรีย์ในชุมชนมีปริมาณน้อย จึงไม่จำเป็นต้องมีการคัดแยก ประเด็นการจัดการขยะอินทรีย์จึงต้องมีการศึกษาข้อมูลปริมาณขยะอินทรีย์ในชุมชนก่อน แล้วค่อยหาแนวทางดำเนินการต่อไป

3.รณรงค์และหาแนวทางในการส่งเสริมการคัดแยกขยะรีไซเคิลผ่านธนาคารขยะเพื่อชีวิต เพื่อเพิ่มจำนวนสมาชิกที่จะช่วยคัดแยกขยะรีไซเคิลในครัวเรือนของตนเอง

4.กลุ่มหมู่บ้านที่คาดว่าจะดำเนินการจัดกิจกรรมนำร่องในการจัดการขยะชุมชน คือ กลุ่มหมู่บ้านกุดหมากเห็ด 4 หมู่บ้าน เพราะเป็นหมู่บ้านที่ให้ความร่วมมือดีมาตลอด และมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง