เวทีสัมมนาเครือข่ายวิจัยและพัฒนาท้องถิ่น “เกษตรคนเมืองกับการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก”

วันที่ 19 มีนาคม 2567 สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับเครือข่ายที่ปฏิบัติงานด้านพัฒนาการเกษตรคนเมือง ได้จัดเวทีสัมมนาเครือข่ายวิจัยและพัฒนาท้องถิ่นในหัวข้อ “เกษตรคนเมืองกับการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก”  ณ ห้องนภาลัย ราชาวดี รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น โดยมีแกนนำและตัวแทนชุมชนเกษตรคนเมือง จำนวน 40 คน จากบ้านเหล่านาดี บ้านทุ่ม บ้านศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เข้าร่วมกิจกรรม และได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา บรรยายนำในหัวข้อ บทบาทของมหาวิทยาลัยขอนแก่นกับการพัฒนาเกษตรคนเมือง

“มหาวิทยาลัยขอนแก่นไม่ได้ทำเฉพาะด้านการผลิตบัณฑิต แต่ให้ความสำคัญกับการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง มีตัวชี้วัดสำคัญ คือ การสร้างรายได้ให้กับชุมชน ด้วยการยกระดับมูลค่าสินค้า โดยยินดีสนับสนุนชุมชนที่สนใจพัฒนาผลผลิตของตัวเองให้เป็น ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ต่อไปสินค้าชุมชนจะไม่ขายเป็นเข่งๆ ราคาถูก แต่จะเปลี่ยนเป็นชุดเซ็ทจานพออิ่มที่ได้ราคาสูงขึ้น  โดยมหาวิทยาลัยมีเทคโนโลยีใหม่ๆช่วยสนับสนุนด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การแปรรูป การพัฒนาแพคเกจบรรจุภัณฑ์ให้น่าใช้  ซึ่งต่อไปผลิตภัณฑ์ด้านอาหารจะสามารถเก็บไว้ได้นานเป็นปี โดยไม่ต้องแช่แข็ง และมีการสร้าง story ให้น่าซื้อหา รวมถึงอาจเป็นตัวกลางเชื่อมด้านการตลาดและภาคเอกชน”

และมีวิทยากรรร่วมแลกเปลี่ยนและให้ความรู้ด้านเกษตรคนเมือง ในแต่ละประเด็น ดังนี้

           เกษตรคนเมือง ประสบการณ์ จากโครงการสวนผักคนเมืองขอนแก่น โดย คุณถนัด แสงทอง ประธานตลาดขอนแก่นกรีนมาร์เก็ต “เครือข่ายเกษตรทางเลือกเริ่มส่งเสริมการทำสวนผักคนเมืองขอนแก่น ในปี 2559-2561 ด้วยงบจาก สสส. โดยพบว่าเมืองขอนแก่นมีผักผลไม้มากมาย แต่ไม่ปลอดภัยมีสารเคมีสูงเกินมาตรฐาน จึงชวนชุมชนเมือง ทั้งชุมชนริมรางรถไฟ ชุมชนดั้งเดิม ชุมชนตึกแถว และชุมชนบ้านจัดสรร มาปลูกผักอินทรีย์ร่วมกัน แต่เมืองไม่มีพื้นที่กว้าง เป็นปูน เป็นซอก สภาพดินไม่ดี ช่วงเริ่มต้นก็ต้องมีการปรับสภาพดิน ใช้ขยะอินทรีย์ในบ้านมาเป็นปุ๋ย มีการปลุกผักในกระถางบนพื้นที่แคบ บางรายปลูกบนดาดฟ้า หรือบางแห่งมีพื้นที่กลางก็ทำการปลูกผักร่วมกัน แล้วนำผลผลิตอินทรีย์มาจำหน่ายที่ตลาดกลางเรียกว่า “ตลาดสีเขียว” ที่ริมบึงแก่นนคร ซึ่งผลของการทำเล็กๆน้อยก็สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการขายผลผลิตอินทรีย์ของเกษตรกรตัวอย่างรายปี มีรายได้เป็นหลักแสนบาท”

ทางเลือกรูปแบบการเกษตรคนเมือง โดย ดร.กุศล ถมมา นักวิชาการเกษตร สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 “จากประสบการณ์วิจัยและการส่งเสริมการปลูกพืช ได้มีรูปแบบการปลูกผักในที่แคบสำหรับคนเมืองเพื่อนำไปประยุกต์ใช้หลากหลายรูปแบบ เช่น ปลูกพืชในกระถาง กะละมัง ถุงกระสอบ ปลูกผักยกแคร่ หรือปลูกในรางแคบ เน้นการประหยัดต้นทุนแต่ได้ผลผลิตคุ้มค่า โดยการเตรียมวัสดุปลูกที่เหมาะสมจะช่วยให้มีดินที่สมบูรณ์พืชโตเร็ว ทั้งนี้วัสดุปลูกในแปลงไม่จำเป็นต้องหนาถึง 20 ซม. แต่หนาเพียง 10-12 ซม.ก็สามารถให้ผลผลิตที่คุ้มค่า มีตัวอย่างของชุมชนที่ประสบผลสำเร็จ สำหรับผู้สนใจปลูกพืชไปเรียนรู้ในจังหวัดขอนแก่น ที่ชุมชน ต.หนองโก อ.กระนวน โดยเป็นการปลูกผักอินทรีย์ของสมาชิกร่วมกันในโรงเรือนที่ออกแบบตามหลักการด้วยวัสดุที่ประหยัดต้นทุน สามารถปลูกผักได้ตลอดทั้งปี มีการเพาะกล้า และผสมวัสดุปลูกที่หมุนเวียนใช้ได้นานเป็นปี”

           การจัดการขยะ&เกษตรอินทรีย์พื้นที่ศิลานคร โดย คุณวราภรณ์  ครองพงษ์ หัวหน้าฝ่ายบริหารงานสาธารณสุข เทศบาลเมืองศิลา “จากปัญหาขยะอินทรีย์ที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 51.3 ของขยะชุมชนศิลา จึงมีการส่งเสริมการนำขยะอินทรีย์มาใช้ประโยชน์ด้วยการทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักหลากหลายสูตร เพื่อนำมาใช้ในการเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรปลอดภัย และมีการทำตลาดชุมชนรองรับผลผลิต โดยเริ่มต้นที่หมู่บ้านหนองหิน ซึ่งทำให้ผู้ผลิตได้ขาย ส่วนคนในชุมชนก็มาซื้อของกินของใช้ได้ง่ายสะดวก ไม่ต้องไปไกล”

           กลยุทธ์ การสร้างแรงจูงใจ และการตลาด เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของเครือข่ายเกษตร โดย รศ.ดร.ไกรเลิศ  ทวีกุล “การพัฒนาด้านเศรษฐกิจฐานรากแก่เกษตรกร มีกลยุทธ์ที่สำคัญ คือ 1.การสร้างแรงจูงใจ ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนระบบการจัดการน้ำ การจัดการดิน การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาช่วยเป็นการเกษตรอัจฉริยะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (เช่น ระบบดิจิทอลควบคุมโรงเรือน) การสร้างการรวมกลุ่ม/เครือข่ายเกษตรกร  และการแสวงหาแนวร่วมและแหล่งทุนในการช่วยเหลือชุมชน  2. การขับเคลื่อนตลาด เน้นการสร้างผลิตภัณฑ์แบบมีตลาดนำ โดยตลาดมีหลายแหล่ง เช่น ตลาดห้าง  ตลาดออนไลน์ และตลาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (ตัวอย่างมะม่วงบ้านป่าปอ อ.บ้านไผ่ มีการทำคาร์บอนเครดิตของแปลงมะม่วง) แต่ต้องไม่ทิ้งตลาดชุมชน และขายหน้าแปลง”

           หลังจากนั้นมีการประชุมระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนสินค้าเกษตร และวัสดุปลูก ที่วิทยากรแต่ละท่านได้นำมาสนับสนุนคนเมือง และหารือการจัดกิจกรรมร่วมกันเพื่อสร้างเครือข่ายในการพัฒนาเกษตรคนเมืองขอนแก่น ซึ่งเบื้องต้นโครงการสวนผักคนเมืองขอนแก่นจะมีการขยายพื้นที่การส่งเสริม ซึ่งอาจจะมีการขยายไปยังพื้นที่ของกลุ่มเครือข่ายวิจัยและพัฒนาท้องถิ่นต่อไป