*นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
การวิจัยที่มีชุมชนเป็นฐาน (Community-based research หรือ CBR) เป็นแนวทางการวิจัยที่มุ่งเน้นความร่วมมือระหว่างนักวิจัยกับสมาชิกในชุมชน เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชุมชน เป็นรูปแบบการวิจัยที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการกำหนดประเด็นการวิจัย กระบวนการวิจัย และการนำผลวิจัยไปปฏิบัติในชุมชน
องค์ประกอบสำคัญของการวิจัยที่มีชุมชนเป็นฐานประกอบด้วย
1. การมีส่วนร่วมของชุมชน ชุมชนมีบทบาทสำคัญในทุกขั้นตอนของการวิจัย ตั้งแต่การระบุปัญหา การออกแบบวิธีการ การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ผลลัพธ์ และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร
2. การมุ่งเป้าแก้ไขปัญหาจริงในชุมชน การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชุมชน ไม่ใช่แค่เพื่อเพิ่มความรู้เชิงทฤษฎี
3. ความร่วมมือระหว่างนักวิจัยกับชุมชน ความร่วมมือเน้นความเสมอภาคและเคารพในภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน
4. ผลลัพธ์ที่นำไปปฏิบัติได้จริง ผลการวิจัยจะถูกนำไปปฏิบัติจริงในชุมชนเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตหรือแก้ปัญหาเฉพาะของชุมชน
การวิจัยที่มีชุมชนเป็นฐาน ใช้ในการแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนในมิติด้านต่าง ๆ อาทิเช่น การพัฒนาชุมชน สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการศึกษา เป็นต้น
ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่การวิเคราะห์ปัญหาของชุมชนให้ชัดเจน เพื่อเป็นก้าวแรกในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาของชุมชน ตัวอย่างเครื่องมือในการวิเคราะห์ปัญหาของชุมชน ได้แก่ วิเคราะห์รากเหง้าของปัญหา (Root Cause Analysis) วิธีหาสาเหตุรากเหง้าของปัญหาสามารถวิเคราะห์ได้จากเครื่องมือต่าง ๆ ตัวอย่างที่นิยมใช้ได้แก่ แผนก้างปลา (Fish Bone Diagram) ผังก้างปลาเป็นวิธีการมองภาพรวมและความเชื่อมโยง (Linked) ของที่มาของปัญหา โดยกำหนดชื่อปัญหาไว้ที่หัวปลา และทำการวิเคราะห์กำหนดสาเหตุหลัก สาเหตุรอง ของปัญหาไว้ที่ก้างปลา เพื่อใช้ในการออกความคิดเห็น วิเคราะห์หาสาเหตุหลัก ออกเป็นประเด็นด้านต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น ประเด็น (คน/พนักงาน/บุคลากร) ประเด็น (เครื่องจักร/อุปกรณ์อำนวยความสะดวก) ประเด็น (วัตถุดิบ/อะไหล่/อุปกรณ์ ที่ใช้ในกระบวนการ) ประเด็น (กระบวนการทำงาน) ประเด็น (อากาศ/สถานที่/ความสว่าง/บรรยากาศการทำงาน) ประเด็น (สถานที่) ประเด็น (กฎระเบียบ/นโยบาย) ประเด็น (สิ่งแวดล้อม) ประเด็น (พัสดุ อุปกรณ์) ประเด็น (ทักษะ) เป็นต้น
และดำเนินการวิเคราะห์เพื่อค้นหาสาเหตุรองและสาเหตุย่อยไว้ในก้างเล็ก โดยจัดกลุ่มสาเหตุเดียวกันอยู่ในก้างเดียวกัน จากสาเหตุของปัญหาทั้งหมดที่วิเคราะห์ได้ นำมาให้น้ำหนักความสำคัญ (มาก ปานกลาง น้อย) เนื่องจากสาเหตุเหล่านั้นอาจจะมีส่วนให้เกิดปัญหาได้ไม่เท่ากัน บางสาเหตุอาจจะมีความเชื่อมโยงกันต้องใช้ข้อมูลของการเกิดสาเหตุนั้น ๆมาประกอบการตัดสินใจเลือกประเด็นสำคัญ และนำมาปรับปรุงในประเด็นที่เหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาที่ต้นตอของปัญหา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเดิมซ้ำขึ้นอีก เป็นแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
ตัวอย่างการวิจัยที่มีชุมชนเป็นฐาน (Community-based research หรือ CBR) ที่เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับสำนักงานพลังงานจังหวัดขอนแก่น คือ การแก้ไขปัญหาผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) กลุ่มปลาแปรรูปบ้านโพธิ์ตาก เทศบาลตำบลบ้านผือ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ในการผลิตปลาแดดเดียว ที่เป็นสินค้ายอดนิยมและจำหน่ายได้ดี ทั้งคนในชุมชนเอง และมาจาก ที่อื่น ๆ ทั่วจังหวัดขอนแก่น แต่ประสบปัญหาเนื้อปลาแห้งไม่สม่ำเสมอ ในฤดูฝนตากปลาไม่แห้งเนื่องจากมีความชื้นในอากาศ รวมถึงมีฝุ่นเกาะติดเนื้อปลา เนื่องจากสถานที่ของกลุ่มวิสาหกิจอยู่ติดถนนทางหลวงชนบท
จากการระดมสมองหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกับทางกลุ่มปลาแปรรูปบ้านโพธิ์ตาก จึงเป็นที่มาของการร่วมพัฒนาข้อเสนอโครงการ “การขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่น เพื่อขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยทางกลุ่มปลาแปรรูปบ้านโพธิ์ตาก ขอรับการสนับสนุนตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อมาใช้ในการผลิตปลาแดดเดียว และแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น และในปี พ.ศ. 2567 ทางกลุ่มก็ได้รับการสนับสนุนตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 2 ชุด จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ส่งผลให้กลุ่มปลาแปรรูปบ้านโพธิ์ตาก มีการผลิตปลาแดดเดียวที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับสมาชิกของกลุ่มอีกด้วย