สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับการส่งเสริมความรู้การวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ส่งผลกระทบ ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

*นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัย ขอนแก่น ได้รับเชิญจากสำนักงานพลังงานจังหวัดขอนแก่น เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้กับกลุ่มเกษตรกรภายใต้ “กิจกรรมสัมมนาการวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม” ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านโสกจาน ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น โดยหัวข้อการบรรยายประกอบด้วย สถานการณ์พลังงานในปัจจุบัน การอนุรักษ์พลังงาน พลังงานทดแทน การใช้พลังงานทางเลือกในอนาคต ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และความเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์ชุมชน และแบ่งกลุ่มวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรมสัมมนาประกอบด้วย กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง กลุ่มเกษตรกร ผู้เลี้ยงปลา กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกเมล่อน กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าว กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูก มันสำปะหลัง และกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวแตน รวมทั้งสิ้น 30 คน

ผลลัพธ์จากการจัดกิจกรรมภายใต้การให้คำปรึกษาจากนักวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ มีความเข้าใจในประเด็นห่วงโซ่อุปทานผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม ในระดับที่น่าพอใจ และสามารถวิเคราะห์หาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชน อาทิเช่น

· กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง มีความต้องการเทคโนโลยีระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับการให้น้ำแปลงปลูก ต้นมะม่วง ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับการแปรรูปมะม่วง และการบริหารจัดการการจำหน่ายผลผลิตมะม่วงเพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันด้านราคากันเอง

· กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา มีความต้องการเทคโนโลยีระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับสูบน้ำเข้าบ่อปลา เครื่องเติมอากาศในน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับบ่อเพาะพันธุ์ปลา รวมถึงระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับการแปรรูปปลา

· กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกเมล่อน มีความต้องการเทคโนโลยีระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับการให้น้ำภายในแปลงปลูกเมล่อน

· กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าว มีความต้องการเทคโนโลยีเครื่องสีข้าวพลังงานแสงอาทิตย์ และเครื่องคัดแยกสีเมล็ดข้าว

· กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโค มีความต้องการเทคโนโลยีระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แบบรถเข็น เทคโนโลยีระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (ชุดไฟนอนนา หรือชุดไฟแดด) และระบบบ่อหมักก๊าซชีวภาพจากมูลโค

· กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง มีความต้องการเทคโนโลยีระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ประกอบด้วย ปั๊มน้ำ ถังเก็บน้ำ และระบบน้ำหยด

· กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวแตน มีความต้องการเทคโนโลยีระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับการอบข้าวแตน และอบสมุนไพร เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ ข้าวแตนสมุนไพร