*นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2568 นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เข้าร่วม “งานวันเกษตรภาคอีสาน Isan Agricultural Fair 2025” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2568 ณ อุทยานเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้คำขวัญ “เกษตรอีสานสร้างสรรค์ ผลักดัน Soft Power ยกระดับเกษตรทันสมัย สู่การพัฒนาไทยให้ยั่งยืน”

นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดงานวันเกษตรภาคอีสาน ประจำปี 2568 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนผลงานวิชาการและงานวิจัยทางการเกษตรของนักวิชาการทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชนและเกษตรกร เพื่อเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการเกษตรและเทคโนโลยีการเกษตรสู่ชุมชน การฝึกอบรมอาชีพการเกษตรให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจ รวมถึงการส่งเสริมการขยายตัวของธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นเวทีในการส่งเสริมและเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ชุมชน ส่งเสริมให้เยาวชน นักเรียน นักศึกษาเห็นความสำคัญของอาชีพเกษตรและการเป็นครัวของโลก พร้อมทั้งจัดแสดงผลงาน ผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม และความก้าวหน้าทางการเกษตรตามนโยบายของรัฐบาลในด้านเศรษฐกิจ BCG ยกระดับภาคเกษตรผ่านการใช้ Soft Power การเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและความยั่งยืนในชุมชน ผลักดันให้เกิดการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างครบวงจร มุ่งสู่นโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร การเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆที่ตรงตามความต้องการของตลาด ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาพัฒนาภาคการเกษตร เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรอันเป็นแนวทางในการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตร

งานวันเกษตรภาคอีสาน Isan Agricultural Fair 2025 ในส่วนของนักวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้สืบค้นข้อมูลข่าวสาร และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มุมมอง และความคิดเห็นกับนักวิชาการและเจ้าหน้าที่ของกรมหม่อนไหม และภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การแปรรูปผลผลิตจากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ข้อมูลที่ได้เป็นประโยชน์ต่อโครงการ Thailand-China Silkworm Breeding Comprehensive Production Chain Technical Cooperation Improving People’s Livelihood มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง ในการเสนอแนะแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน ด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในมิติด้านต่าง ๆ อาทิเช่น การทำวิจัยร่วมกันเกี่ยวกับการป้องกันโรคของที่เกิดกับตัวไหม การพัฒนาอาหารทดแทนใบหม่อนเพื่อการเลี้ยงตัวไหม การแปรรูปผลผลิตจากรังไหมเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นต้น




