สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมแลกเปลี่ยน เรียนรู้เพื่อวิเคราะห์ความต้องการหรือความเป็นไปได้ในการส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานในห่วงโซ่อุปทานกับผู้มีส่วนได้เสีย

*นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2565 นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัย ขอนแก่น ได้รับเชิญจากสำนักงานพลังงานจังหวัดขอนแก่น เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้และวิทยากรกระบวนการกับกลุ่มเกษตรกรภายใต้ “กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อวิเคราะห์ความต้องการหรือความเป็นไปได้ในการส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานในห่วงโซ่อุปทานกับผู้มีส่วนได้เสีย” ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านโสกจาน ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ในภาคเช้า นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัย ขอนแก่น ได้บรรยายให้ความรู้กับเกษตรกรกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 40 คน ประกอบด้วย 1) สถานการณ์พลังงานในปัจจุบัน การอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน การใช้พลังงานทางเลือกในอนาคต 2) เทคโนโลยีพลังงาน การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลังงานตามความเหมาะสม ศักยภาพ และวัตถุดิบในชุมชน 3) แนวทางการขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการลงทุนเทคโนโลยีพลังงานระดับชุมชนจากสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.)

ในภาคบ่าย นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัย ขอนแก่น ได้เป็นวิทยากรกระบวนการในการฝึกอบบรมเชิงปฏิบัติการย่อย (Mini Workshop) การวิเคราะห์ความต้องการ หรือความเป็นไปได้ในการส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานที่ความเหมาะสมด้วยเทคนิคการวิเคราะห์ SWOT (SWOT Analysis) ผลลัพธ์จากการจัดกิจกรรมภายใต้การให้คำปรึกษาจากนักวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ มีความเข้าใจและสามารถวิเคราะห์ความต้องการหรือความเป็นไปได้ในการส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานในห่วงโซ่อุปทานผลิตภัณฑ์ชุมชนของกลุ่ม โดยข้อมูลที่เกษตรกรกลุ่มต่าง ๆวิเคราะห์ได้ จะถูกนำไปสู่กระบวนการออกแบบรายละเอียดเพื่อพัฒนาไปสู่การเป็น “ชุมชนพลังงานทดแทนด้วยกลไกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้ชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” ภายใต้ “ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) พ.ศ. 2564-2569” ทั้งนี้จังหวัดขอนแก่น ได้รับ คัดเลือกโดยกระทรวงพลังงานให้เป็นจังหวัดนำร่อง ร่วมกับจังหวัดลำปาง และจังหวัดยโสธร ที่ทำการศึกษาวิจัยห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสม (Feasibility Study) ในการส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยีพลังงานทดแทนกับวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG