*นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ประเทศไทยได้ประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) พ.ศ. 2564-2569 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาประเทศ และเพิ่ม GDP ให้กับประเทศไทย 1 ล้านล้านบาท ในระยะเวลา 6 ปี โมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ “4 + 1” “4” หมายถึง 4 สาขายุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1) เกษตรและอาหาร 2) สุขภาพและการแพทย์ 3) พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4) การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ “1” หมายถึง ฐานความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม
สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 3 ในประเด็นด้านพลังงาน กระทรวงพลังงานได้จัดทำ “โครงการพลังงานชุมชน” ภายใต้แผนปฏิบัติการ “ชุมชนพลังงานทดแทน ด้วยกลไกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” โดยมีกระบวนการในการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ 7 ขั้นตอน ประกอบด้วย
ขั้นตอนที่ 1) สถาบันการศึกษา ศึกษากลไกการปล่อยกู้ และความช่วยเหลือทางด้านเทคนิค (Technical Assistance)
ขั้นตอนที่ 2) เงินกู้อัตราผ่อนปรน ในรูปแบบสินเชื่อเงินหมุนเวียนพลังงานชุมชน (Blended Finance)
ขั้นตอนที่ 3) สำนักงานพลังงานจังหวัด รับสมัครชุมชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ และดำเนินการอบรมสัมมนาให้ความรู้แก่สมาชิกของชุมชนในหัวข้อเทคโนโลยีพลังงานทดแทน การเตรียมความพร้อมและยกระดับชุมชน รวมถึงการจัดตั้งนิติบุคคลระดับชุมชน
ขั้นตอนที่ 4) การร่วมลงทุนกับภาคเอกชนและวิสาหกิจเพื่อสังคม (Private Sector & Social Enterprise)
ขั้นตอนที่ 5) การแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ (Credit Guarantee Facility)
ขั้นตอนที่ 6) คัดเลือกนิติบุคคลระดับชุมชนที่มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการ
ขั้นตอนที่ 7) การปฏิบัติตามแผนงานเพื่อให้เป็นชุมชนพลังงานทดแทนที่สมบูรณ์
ทั้งนี้กระทรวงพลังงาน ได้คัดเลือก 3 จังหวัดนำร่อง ประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น จังหวัดลำปาง และจังหวัดยโสธร เพื่อทำการศึกษาวิจัย “ห่วงโซ่คุณค่า” (Value Chain) และศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสม (Feasibility Study) ในการส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยีพลังงานทดแทนกับชุมชน