สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกิจกรรมการเสริมสร้างศักยภาพของเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนอัจฉริยะสำหรับห่วงโซ่อุปทานการเกษตรในประเทศไทย

*นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute) และกองทุนความร่วมมือแม่โขง-สาธารณรัฐเกาหลี (Mekong-Republic of Korea Cooperation Fund) จัดโครงการฝึกอบรมอากาศยานไร้คนขับ (UAVs หรือ Drones) และการประยุกต์ใช้ในภาคการเกษตร ภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพของเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนอัจฉริยะ สำหรับห่วงโซ่อุปทานการเกษตรในประเทศไทย ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านโสกจาน อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานทดแทนอัจฉริยะสำหรับห่วงโซ่อุปทานทางการเกษตรส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ในภาคการเกษตร และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และองค์กรระหว่างประเทศ กับกลุ่มเกษตรกรของจังหวัดขอนแก่น

โดยการฝึกอบรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายธนายุทธ สังข์อินทร์ ผู้อำนวยการกองบริหารงานวิจัย และรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เกียรติกล่าวเปิดการฝึกอบรม และบรรยายบทบาทของกองบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับการพัฒนาชุมชนและสังคม การฝึกอบรมในครั้งนี้มีสำนักงานพลังงาน จังหวัดขอนแก่น และเกษตรกรสมาชิกกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ เข้าร่วมการฝึกอบรมจำนวนทั้งสิ้น 25 คน

ผลการฝึกอบรมพบว่าเกษตรกรสมาชิกกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ให้ความสนใจ และมีความเข้าใจประโยชน์ของการประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับ (UAVs หรือ Drones) ในภาคการเกษตร ตลอดจนมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการซักถามข้อสงสัยจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้โดรนเพื่อการเกษตร อันจะนำไปสู่การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเกษตรในภาพรวม ประโยชน์ที่สำคัญอีกประการในการฝึกอบรมครั้งนี้ คือ เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) หน่วยงานระหว่างประเทศ และสมาชิกกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดขอนแก่น ที่จะได้ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน หรือ Common Prosperity ต่อไปในอนาคต