*นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศประกอบอาชีพด้านการเกษตร ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีลักษณะภูมิประเทศเหมาะแก่การทำเกษตรกรรม แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศไทยยังคงมีสถานะทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างลำบาก มีหนี้สินครัวเรือน การประกอบอาชีพเกษตรกรรมประสบปัญหาต้นทุนในการผลิตที่สูง แต่ได้รับผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร และผลผลิตมีราคาต่ำจากปัญหาการกดราคาด้วยกลไกการตลาด ปัญหาดังกล่าวถูกส่งต่อจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง บางครอบครัวต้องแยกย้ายกันเพื่อไปประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย รวมถึงในต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมาอย่างมากมาย
แนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวคือ การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้กับการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ บทความนี้จะขอยกตัวอย่างในด้านการเกษตร กรณีศึกษาการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำ มข.55 ที่เป็นนวัตกรรมของศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ (ไก่พื้นเมือง) คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ไก่ประดู่หางดำ เป็นไก่ที่มีลักษณะคล้ายไก่พันธุ์เนื้อ มีขนพื้นตัวสีดำ ปากดำ และแข้งมีสีดำ อัตราการเจริญเติบโตดี รสชาติเนื้ออร่อย เป็นที่นิยมของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะแข้งสีดำถือว่าเป็นไก่พื้นเมือง
ปัจจุบัน ไก่ประดู่หางดำได้มีการพัฒนาสายพันธุ์มาแล้วกว่า 15 ปี ระยะเวลาในการเลี้ยงจากลูกไก่จนสามารถจำหน่ายได้มีระยะเวลาเพียง 70 วัน และสามารถให้ผลผลิตไข่ไก่ขนาดเบอร์ 3 และเบอร์ 4 ได้ถึง 180 ฟองต่อปี พ่อพันธุ์ไก่ 1 ตัว และแม่พันธุ์ไก่ 2 ตัว สามารถขยายพันธุ์ให้ไก่ประดู่หางดำได้กว่า 50 ตัว ข้อดีอีกประการของไก่ประดู่หางดำ คือ เลี้ยงง่าย เกษตรกรสามารถนำเศษอาหารที่เหลือจากครัวเรือนมาใช้เป็นอาหารให้ไก่ได้ รวมถึงเศษผักต่าง ๆ จากแปลงเกษตร รวมถึงแมลง และปลวก ช่วยลดต้นทุนค่าอาหารไก่ได้อย่างมาก และไก่พันธุ์ประดู่หางดำทนทานต่อโรคเป็นอย่างดี สอดคล้องตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ไก่ประดู่หางดำ มข.55 เนื้อมีคุณสมบัตินุ่ม หนึบ จึงเป็นที่ต้องการของตลาด เหมาะกับการนำมาประกอบหรือแปรรูปเป็นอาหารประเภทต่าง ๆ อาทิเช่น อู๋ไก่บ้าน ผัดกะเพราไก่ แกงพะแนงไก่ แกงมัสมั่นไก่ ที่ล้วนเป็น Soft Power อันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย ที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทยกับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เป็นอย่างดี
บทความที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้ในด้านการเกษตร กรณีศึกษาการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำ มข.55 ผู้เขียนบทความนี้คาดหวังว่าจะมีส่วนช่วยให้ผู้ที่สนใจได้แสวงหาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม โดยค่อยๆศึกษา และค่อยๆลงมือปฏิบัติ ตามสำนวนสุภาษิตจีนที่ว่า “คลำหินข้ามลำธาร” ที่เน้นความยั่งยืน การพึ่งพาตนเอง เพื่อไม่เกิดความโลภอย่างมาก สอดคล้องต้องกันตามหลักของ “ศาสตร์พระราชา” ข้อที่ 8 “ระเบิดจากข้างใน” ที่ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนให้มีความพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน แล้วจึงค่อยนำความเจริญเข้าไปพัฒนาชุมชน