เศรษฐกิจฐานราก เป็นการพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวทางการวิจัยและพัฒนาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นให้ความสำคัญ โดย ศาสตราจารย์ ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา ได้กล่าวบรรยายพิเศษถึงแนวทางการพัฒนายกระดับเศรษฐกิจฐานรากด้วยการเพิ่มมูลค่าสินค้าท้องถิ่นและการสนับสนุนของมข. ในเวทีเสวนาเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากท้องถิ่น ของ สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันอังคารที่ 5 กันยายน 2566 ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร บ้านโสกจาน ตำบลบ้านไผ่ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ไว้ดังนี้

การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยการยกระดับเพิ่มมูลค่าสินค้าท้องถิ่น มีประเด็นสำคัญในการวางแผนและพัฒนาสินค้า คือ ต้องมีการจัดการที่มองภาพรวมการผลิตให้ครบวงจรห่วงโซ่การผลิตตลอดทั้งเส้นทาง ตั้งแต่ต้นทาง (การผลิต) กลางทาง (การแปรรูป) และปลายทาง (การตลาดหรือช่องทางการจำหน่าย)  โดยชุมชนไม่ต้องทำเองทั้งหมด ทำเฉพาะเรื่องที่ถนัด แต่มีการประสานกับเพื่อนหรือเครือข่ายที่ถนัดส่วนอื่นมาต่อเชื่อมให้ครบกระบวนการตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต ตัวอย่างเช่น การปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ เดิมเราผลิตเองขายเอง แต่ถ้าเราสามารถเชื่อมช่องทางตลาดอื่น เช่น มีผู้มารับช่วงไปขายต่อในห้าง เราก็จะมีช่องทางการจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น และมีการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง คือ ค่อยๆ ทำแต่น้อยตามกำลังทุนและแรงที่มีก่อน จากนั้นค่อยๆ ทำเพิ่มตามศักยภาพของตนเองที่สูงขึ้น

ลักษณะสำคัญของสินค้าท้องถิ่น สินค้าท้องถิ่นที่จะนำมาพัฒนายกระดับให้สามารถขายได้ราคาดี และมีความต้องการซื้อสูง จะต้องมีลักษณะสำคัญ 3 ส่วน คือ 1)ต้องมีจุดขายที่แตกต่างจากสินค้าประเภทเดียวกัน เช่น ปลานิลในตลาดมีมากมายแต่ปลานิลของเราแตกต่างตรงที่ไร้กลิ่นคาว หรือผักชีลาวสดๆ ใครก็ขายในราคาต่ำ แต่ถ้าปรับเป็นซุปสกัดจากผักชีลาวก็จะขายได้ราคาสูงขึ้น เป็นต้น 2) ต้องเป็นของดีที่มีประโยชน์และปลอดภัยต่อสุขภาพ เช่น ผักอินทรีย์ปลอดสารเคมี หรือข้าวไรซ์เบอรี่ที่อุดมด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ เป็นต้น และ 3) ต้องเป็นผลผลิตที่รสชาติดีมีคุณภาพ เช่น โดนัทมีแค่ความนุ่มไม่พอ ต้องมีความฉ่ำ และเก็บรักษาไว้ได้นานอีกด้วย นอกจากนี้จะต้องมีการสร้างสรรค์ทำ story เรื่องราวของสินค้า และออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามน่าใช้

การสนับสนุนของมข.ในการช่วยชุมชนยกระดับเศรษฐกิจฐานราก การพัฒนายกระดับสินค้าให้มีคุณภาพและมีลักษณะสำคัญตามที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีและความรู้ทางวิชาการเข้ามาช่วย ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความพร้อมในการช่วยสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นหลายเรื่องด้วยกัน เช่น สายพันธุ์พืชและสัตว์ที่ดี คณะเกษตรศาสตร์ มข. มีการพัฒนาสายพันธุ์พืชและสัตว์ให้มีคุณภาพ ตัวอย่างเช่น “ข้าวเหนียวนับวัน” รสชาติข้าวเหมือน กข.6 แต่เก็บเกี่ยวได้ไว มีความต้านทานโรคใบแห้งและโรคไหม้ “ไก่ประดู่หางดำ” มีความเฉพาะคือ ไข่ดกอกกว้าง และ “ไก่ KKU1” เลี้ยงเพียงเดือนเดียวก็ขายได้ เป็นต้น เทคโนโลยีการพัฒนาสินค้าเพื่อการแปรรูปให้มีคุณภาพดี โดยมีนักวิชาการที่ช่วยให้คำแนะนำการพัฒนาคุณภาพสินค้า และมีอุปกรณ์เครื่องจักรสำหรับช่วยพัฒนาคุณภาพสินค้า เช่น เครื่องฆ่าเชื้อโดยใช้ความดันด้วยอุณหภูมิสูง หม้อทอดไร้น้ำมันขนาดใหญ่ และเครื่องบดผงจากพืชสมุนไพรและอื่นๆ เป็นต้น

การสนับสนุนเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเบื้องต้น มหาวิทยาลัยขอนแก่นยังมีความพร้อมด้านวิชาการ เครื่องมือ และเทคโนโลยีอีกหลายเรื่อง ที่ช่วยเอื้อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นแนวทางที่สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม นำมาใช้ในงานวิจัยและพัฒนาซึ่งคาดหวังว่าจะทำให้ชุมชนและสังคมโดยเฉพาะในเขตภูมิภาคอีสานมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนและสังคมตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)