การเกษตรเชิงฟื้นฟู (Regenerative Agriculture)

    *นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

    การเกษตรเชิงฟื้นฟู (Regenerative Agriculture) เป็นแนวทางการเกษตรที่เน้นการฟื้นฟูดินและระบบนิเวศในพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อเพิ่มผลผลิตและสร้างความยั่งยืนในระยะยาว โดยมุ่งเน้นการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ การปรับปรุงคุณภาพของดิน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้สารเคมีและปุ๋ยสังเคราะห์ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเพิ่มความยั่งยืนในระยะยาว

    ตัวอย่างหลักการของการเกษตรเชิงฟื้นฟู

    1. รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการปลูกพืชหลากหลายชนิดหรือการใช้ระบบเกษตรผสมผสาน (Agroforestry) เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคและแมลงที่อาจเกิดขึ้น ช่วยเพิ่มการดูดซับคาร์บอนจากบรรยากาศ

    2. ฟื้นฟูและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยใช้วิธีเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน เช่น การปลูกพืชคลุมดิน หรือการทำปุ๋ยหมักจากเศษวัสดุทางการเกษตร

    3. การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้วิธีการจัดการน้ำเพื่อลดการสูญเสียและการใช้น้ำเกินความจำเป็น เช่น การทำระบบน้ำหยด หรือการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำฝน

    4. ลดการใช้สารเคมี โดยใช้วิธีการทางธรรมชาติในการป้องกันโรคและแมลง เช่น การใช้สารสกัดจากพืช หรือการใช้แมลงธรรมชาติในการควบคุมศัตรูพืช

    5. การปลูกพืชหมุนเวียน (Crop Rotation) ช่วยปรับปรุงคุณภาพของดินและลดการสะสมของศัตรูพืช

    6. การใช้พลังงานทดแทน อาทิเช่น ติดตั้งโซล่าร์เซลล์ในพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อสูบน้ำเข้าแปลงเกษตรได้ตลอดปี ช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน และลดต้นทุนด้านพลังงาน

    ตัวอย่างการเกษตรเชิงฟื้นฟูในประเทศไทย

    โครงการสวนเกษตรผสมผสาน (Agroforestry) ของเกษตรกรในภาคเหนือ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย เกษตรกรหลายกลุ่มที่นำแนวทางเกษตรผสมผสานมาใช้ในการปลูกพืชหลายชนิดร่วมกับต้นไม้ใหญ่ เช่น การปลูกกาแฟร่วมกับไม้ผล การปลูกพืชตระกูลถั่วร่วมกับข้าวโพด ช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ลดการพึ่งพาสารเคมี ช่วยฟื้นฟูดินให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น สามารถสร้างรายได้จากผลผลิตหลากหลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน

    โครงการเกษตรอินทรีย์ในภาคอีสาน เกษตรกรในจังหวัดขอนแก่นและอุบลราชธานีใช้การทำเกษตรอินทรีย์ โดยใช้ปุ๋ยหมักจากอินทรียวัตถุในท้องถิ่น เช่น การทำปุ๋ยอินทรีย์จากมูลวัว กระบือ หรือเศษวัสดุจากการเกษตร เพื่อปรับปรุงคุณภาพของดิน ลดการใช้สารเคมีในการเกษตร นอกจากนี้มีการปลูกพืชหมุนเวียนช่วยเพิ่มผลผลิตและฟื้นฟูดินให้มีความอุดมสมบูรณ์

    โครงการการใช้พืชคลุมดินในภาคใต้ ในพื้นที่เกษตรกรรมของจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดตรัง เกษตรกรใช้วิธีการปลูกพืชคลุมดิน เช่น ถั่วพร้าและถั่วเขียว เพื่อป้องกันการสูญเสียดินและป้องกันการพังทลายของดินจากฝนตกหนัก ช่วยสร้างรายได้เสริมหลังจบฤดูกาลการทำการเกษตร พืชคลุมดินจะช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุในดินและฟื้นฟูคุณภาพของดินให้อุดมสมบูรณ์ขึ้น

    การเกษตรเชิงฟื้นฟูและการเกษตรแบบธรรมดา มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในด้านวิธีการปฏิบัติ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนของผลผลิต การเกษตรแบบธรรมดาในประเทศไทย เกษตรกรนิยมใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงเพื่อเพิ่มผลผลิต และจัดการกับศัตรูพืช เช่น แมลง และโรคต่าง ๆ ผลผลิตทางการเกษตรจะสูงในระยะสั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป คุณภาพของดินจะลดลงจากการสะสมของสารเคมีและการใช้ปุ๋ยเคมี ในทางกลับกัน การเกษตรเชิงฟื้นฟูในประเทศไทย อาทิเช่น การใช้เกษตรผสมผสานในภาคเหนือ หรือการปลูกพืชคลุมดินในภาคใต้ เป็นการปรับปรุงดินและระบบนิเวศ ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ สามารถรองรับการทำการเกษตรได้ในระยะยาว โดยลดการใช้สารเคมีและสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ แม้ว่าอาจต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูและลงทุนสูงในช่วงเริ่มต้น แต่จะสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรรมในอนาคต