*นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) เป็นความร่วมมือของ 6 ประเทศ คือ ไทย เมียนม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน (มณฑลยูนนานและเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง) เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2535 กลุ่มประเทศ GMS มีพื้นที่รวมกันประมาณ 2 ล้าน 3 แสน ตารางกิโลเมตร มีประชากรรวมประมาณ 250 ล้านคน และมีทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ มากมาย และเป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมโยงติดต่อระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางการค้า การลงทุนอุตสาหกรรม การเกษตร และบริการ สนับสนุนการจ้างงานและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ GMS ให้ดีขึ้น ส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือทางเทคโนโลยีและการศึกษาระหว่างกัน ตลอดจนการแบ่งปันการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ส่งเสริมกันอย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาขีดความสามารถโดยรวมเพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจในเวทีการค้าโลก
แผนการพัฒนายุทธศาสตร์ระยะยาว 3 ด้านหรือ 3 Cs ภายใต้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ประกอบด้วย 1) การสร้างความเชื่อมโยงผ่านระบบต่าง ๆ (Connectivity) 2) การเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันในระดับอนุภูมิภาค (Competitiveness) 3) การเสริมสร้างความรู้สึกรับผิดชอบร่วมกันของการเป็นชุมชน (Community)
สาขาความร่วมมือของความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) มี 9 สาขา ประกอบด้วย คมนาคมขนส่ง โทรคมนาคม พลังงาน การค้า การลงทุน เกษตร สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
สำหรับ อีสานใหม่ (New Isan) เป็นแนวความคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภาคอีสานของประเทศไทย จุดเริ่มต้นมาจากการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยร่วมกับ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะบริหารงานธุรกิจและการบัญชี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น สำนักงานเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) และหอการค้าจังหวัดขอนแก่น ร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในภาคอีสานด้วยแนวคิด “ISAN Soft Power ขุมทรัพย์ขับเคลื่อน “อีสานใหม่” สู่สากล ด้วยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่เป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วย Isan Soft Power (5F) 5 รูปแบบ ประกอบด้วย อาหาร (FOOD) แฟชั่น (FASHION) เทศกาล (FESTIVAL) มวยไทย (FIGHTING) ภาพยนตร์ (FILM) ภาคการท่องเที่ยว โรงแรม
ปัจจุบันภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่าง ๆ อย่างก้าวหน้า อาทิเช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการ โครงการรถไฟทางคู่นคราชมีมา- ขอนแก่น ที่มีโครงการขยายช่วงต่อไปยังจังหวัดหนองคาย เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงจีน – ลาว ศูนย์การแพทย์ชั้นเลิศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (Medical Hub) นิคมอุตสาหกรรม รวมถึงสถาบันการศึกษานานาชาติ ที่พร้อมรองรับการพัฒนาภายใต้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) โดยสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไปด้วยกัน
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) กับอีสานใหม่ (New Isan) เพื่อให้เกิดผลที่มีประสิทธิภาพทั้งด้านเศษฐกิจและสังคม ควรพัฒนาการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ตัวชี้วัดความสำเร็จในเชิงปริมาณและคุณภาพ ผ่านการจัดประเภทความรู้และทักษะในการเพิ่มผลผลิต ประกอบด้วย
Knowledge – ความรู้
Know-what – รู้ว่าอะไร (ความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริง)
Know-how – รู้วิธี (ความรู้เกี่ยวกับทักษะหรือขั้นตอนในการทำสิ่งต่าง ๆ)
Know-why – รู้เหตุผล (ความรู้เกี่ยวกับเหตุผลหรือหลักการที่อยู่เบื้องหลัง)
Know-well – รู้ถ่องแท้ (ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง)
Know-where – รู้ที่ไหน (ความรู้เกี่ยวกับสถานที่หรือแหล่งข้อมูล)
Know-when – รู้เมื่อไหร่ (ความรู้เกี่ยวกับเวลาและจังหวะที่เหมาะสม)