*นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
สาธารณรัฐประชาชนจีน หรือประเทศจีน มีประชากรกว่า 1,400 ล้านคน มากกว่าประชากรของประเทศไทยกว่า 20 เท่า ประเทศจีนมีขนาดพื้นที่มากเป็นอันดับ 4 ของโลก ประชากรของประเทศจีนกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ที่มีสภาพภูมิอากาศ สภาพพื้นที่ ที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก รวมถึงหลากหลายทางชาติพันธุ์
ประเทศจีนประสบปัญหาความยากจนของประชากรเช่นเดียวกับประเทศไทย รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนทุกรัฐบาล ได้พยายามบรรเทาปัญหาความยากจนประชากรมาอย่างต่อเนื่อง จนประสบความสำเร็จในการเอาชนะความยากจนของประชากรในประเทศจีนในปี ค.ศ. 2020 และสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ (End poverty in all its forms everywhere) ที่กำหนดเป้าหมายไว้ในปี ค.ศ. 2030 ได้เร็วกว่าถึง 10 ปี
พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้วางระบบการบรรเทาความยากจนในลักษณะคล้ายกับวงจร PDCA (Plan-Do-Check-Act) หรือวงจร Deming (Deming Cycle) ที่รู้จักกันทั่วไป แต่มีลักษณะที่แตกต่าง โดยนำอัตลักษณ์ของความเป็นชาติจีน (Chinese Characteristics) มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับบริบทของประเทศ ประเทศจีนออกแบบระบบการบรรเทาความยากจน ออกเป็น 6 ระบบย่อย ประกอบด้วย 1) มาตรการ 2) ตั้งทีมงาน 3) ประเมิน 4) รับผิดชอบ 5) ปฏิบัติ และ 6) ติดตามและตรวจสอบ
นอกจากนี้พรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้กำหนดกรอบการช่วยเหลือประชาชนให้หลุดพ้นจากความทุกข์ยาก “ฝูผินทัวผิน” (扶贫脱贫)ภายใต้หลักการ “สองไม่กังวล สามประกัน” สองไม่กังวล หมายถึง ไม่กังวลว่าไม่มีจะกิน และไม่กังวลว่าจะไม่มีเสื้อผ้าสวมใส่ สามประกัน หมายถึง ประกันที่อยู่อาศัย ประกันการรักษาพยาบาล และประกันการศึกษา
พรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ออกแบบการบรรเทาความทุกข์ยากของประชากรแบบกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน (Focus) และตรงเป้าหมาย “จิงจุ่น”(精准)โดยอาศัยฐานข้อมูลเชิงลึกที่ครอบถ้วนรอบด้าน (Big Data) มีหน่วยงานจากภาคส่วนต่าง ๆ ของรัฐบาล เข้าไปดูแล ตรวจสอบ และติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดเพื่อช่วยเหลือคนจน และออกแบบแนวทางแก้ไขป้องกันไม่ให้คนจนกลับไปจนอีกรอบ พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้ภาคการเกษตรเป็นธงในการบรรเทาความยากจนของ พี่น้องประชาชนในชนบทพื้นที่ห่างไกล
นอกจากนี้ใช้ฐานข้อมูลเชิงลึกแล้ว พรรคคอมมิวนิสตืจีนยังออกแบบให้มีการตรวจสอบความถูกต้องของกลุ่มเป้าหมายผ่านการประชาคมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ โดยประชาชนทุกคนในพื้นที่มีสิทธิ์แสดงออกในความคิดเห็นตามหลักประชาธิปไตย
ประเทศไทยและประเทศจีน มีความสัมพันธ์ทั้งทางสายเลือดและทางวัฒนธรรมมานับพันปี “จีน-ไทยใช่อื่นไกลพี่น้องกัน” “จงไท่อี้เจียชิน” (中泰一家亲) ถึงแม้ว่าประเทศไทยและประเทศจีนจะมีระบบการปกครองที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองประเทศมีเป้าหมายที่ตรงกัน คือ การบรรเทาความยากจนและความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน สำหรับประเทศไทยมีทฤษฎีในการบรรเทาความยากจน ได้แก่ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ศาสตร์พระราชา เกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ ในพระบาทสมเด็จพระบรม ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิต ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานให้แก่ประชาชนคนไทย และประชาชนทุกประเทศทั่วโลก ให้สามาถนำไปปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับสังคม ตั้งแต่ระดับตัวบุคคล ครอบครัว ชุมชน และระดับประเทศ ตัวอย่างที่สำคัญในระดับโลก คือ การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางด้านอาหารในสหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation) จนในที่สุดสหพันธรัฐรัสเซียประสบความสำเร็จในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารระดับโลกในปัจจุบัน