แนวทางการบรรเทาความยากจนของสาธารณรัฐประชาชนจีน (ภาคปฏิบัติ)

    *นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

    สาธารณรัฐประชาชนจีน หรือประเทศจีน มีประชากรกว่า 1,400 ล้านคน เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก มีขนาดพื้นที่มากเป็นอันดับ 4 ของโลก ประชากรของประเทศจีนกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศที่มีสภาพภูมิอากาศ สภาพพื้นที่แตกต่างกัน รวมถึงหลากหลายทางชาติพันธุ์ ประเทศจีนประสบปัญหาความยากจนของประชากรเช่นเดียวกับอีกหลายประเทศทั่วโลก แต่ประเทศจีนภายใต้การบริหารประเทศโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนของผู้นำรุ่นต่าง ๆ จนมาถึงผู้นำรุ่นที่ 5 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประเทศจีนได้ประสบความสำเร็จในการเอาชนะความยากจนของประชากรในประเทศจีนในปี ค.ศ. 2020 โดยเร็วกว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ (End poverty in all its forms everywhere) ที่กำหนดเป้าหมายไว้ในปี ค.ศ. 2030 ถึง 10 ปี

    ประเทศจีนได้สั่งสมองค์ความรู้และภูมิปัญญาในการบรรเทาความยากจน มาเป็นระยะเวลามากกว่า 70 ปี โดยมีหัวข้อแนวทางในการบรรเทาความยากจน (ภาคปฏิบัติ) ที่ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก สามารถศึกษาเรียนรู้ และนำไปประยุกต์ให้เหมาะกับบริบทของแต่ละประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อ “สร้างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” (Common Prosperity)

    แนวทางการบรรเทาความยากของสาธารณรัฐประชาชนจีน (ภาคปฏิบัติ) ประกอบด้วย

    1) สำรวจสภาพความยากจนในพื้นที่เป้าหมาย และระบุเป้าหมายกลุ่มคนที่จะได้รับช่วยเหลือและสนับสนุน การใช้แบบสอบถามมาตรฐานเพื่อบันทึกข้อมูลในการประเมินสถานการณ์ความยากจนในพื้นที่เป้าหมาย โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นครอบครัวเกษตรกร แบ่งเป็น 14 หมวดหมู่และ 23 ตัวชี้วัด ที่ครอบคลุม อาทิเช่น สภาพที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องมือการเกษตร ที่ดิน การศึกษา แรงงานในครอบครัว และสถานะสุขภาพ ฯลฯ มาเป็นเกณฑ์การให้คะแนนในการประเมินมาตรฐานความยากจนสำหรับการจัดทำรายงานสถานการณ์ความยากจน

    ผู้เชี่ยวชาญชาวจีนให้คำปรึกษาแนะนำกับคณะทำงานทุกระดับในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อดำเนินการสัมภาษณ์ครัวเรือน การจัดทำไฟล์ข้อมูลความยากจนของครัวเรือนเกษตรกร การแจกแจงสถานะความยากจนของเกษตรกร การระบุกลุ่มครัวเรือนที่ยากจนและครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง รวมถึงการให้ความสนับสนุนต่าง ๆ อาทิเช่น นโยบายและกิจกรรมเพื่อบรรเทาความยากจนและการช่วยเหลือคนจน เป็นต้น

    บันทึกข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ ได้นำมาวิเคราะห์แบบมีจุดเน้น (Focus) เพื่อชี้เป้า “คนจน” หรือครอบครัวที่ยากจน พร้อมแนะนำให้ครอบครัวที่ยากจน และเกษตรกรที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ให้เข้าร่วมโครงการบรรเทาความยากจนและกิจกรรมส่งเสริมอาชีพ เพื่อยกระดับรายได้ในครัวเรือน รวมถึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชุมชนและสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่เป้าหมายด้วย

    2. การประสานความร่วมมือ และการตั้งคณะทำงานในการปฏิบัติการเพื่อบรรเทาความยากจนในระดับพื้นที่

    การประสานความร่วมมือที่มีการออกแบบโครงสร้างและองค์กรการบริหารการพัฒนาชนบท 4 ระดับ ประกอบด้วย ระดับประเทศ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับหมู่บ้าน การสนับสนุนด้านข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ อาทิเช่น การจัดการชุมชน การจัดด้านการจัดซื้อจัดจ้าง การจัดการการเงิน การติดตามและประเมินผล โดยบุคคลที่สาม การจัดทำระบบและเครื่องมือการจัดการต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์จริงในพื้นที่เป้าหมาย และการให้คำแนะนำแก่คณะทำงานในพื้นที่ทุกระดับ เพื่อให้การดำเนินโครงการมีลักษณะที่เป็นมาตรฐาน

    การฝึกอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรในโครงการทุกระดับ โดยผู้เชี่ยวชาญชาวจีนจากสาขาต่าง ๆ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรในโครงการเรียนรู้เทคนิคภาคปฏิบัติ และเรียนรู้จากประสบการณ์ เพื่อให้สามารถพัฒนาโครงการอย่างตรงตามวัตถุประสงค์และสอดรับกับบริบทของแต่ละพื้นที่

    รัฐบาลจีนได้จัดทำโครงการศึกษาประสบการณ์ในการบรรเทาปัญหาความยากจนที่ประสบความสำเร็จ (Best Practices) ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วทั้งประเทศจีน ให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้จาก “ภาคทฤษฎีสู่ภาคปฏิบัติ” (Theoretical to Practical Approach) แก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ ผู้นำชุมชน ผู้จัดการโครงการในระดับหมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด รวมถึงผู้แทนจากครัวเรือนที่ยากจน

    3. การปรับปรุงมาตรฐานความเป็นอยู่ของหมู่บ้านผู้มีรายได้น้อยเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

    3.1 การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านบริการสาธารณะ และปรับปรุงมาตรฐานความเป็นอยู่ของหมู่บ้านผู้มีรายได้น้อย

    ให้การสนับสนุนหมู่บ้านผู้มีรายได้น้อยในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค อาทิเช่น การสร้างถนนยางมะตอย น้ำดื่ม สะพาน ศูนย์กิจกรรม หน่วยบริการสุขภาพ ไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์ หอพักโรงเรียน สนามกีฬา ห้องสุขา และอุปกรณ์การเรียนการสอน เป็นต้น เพื่อบรรเทาปัญหาในด้านการคมนามคมที่ยากลำบาก การเข้าถึงแหล่งน้ำอุปโภคและบริโภคที่สะอาดถูกสุขอนามัย และเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนด้านบุคลากรและข้อมูล รวมถึงการดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาอย่างครอบคลุมในด้านการบริการสาธารณะในหมู่บ้านผู้มีรายได้น้อย ได้แก่ การศึกษา การรักษาพยาบาล วัฒนธรรม และการกีฬา เป็นต้น

    3.2 ส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตร และยกระดับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของหมู่บ้านในพื้นที่เป้าหมาย

    ผู้เชี่ยวชาญชาวจีนเข้าไปส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตรในพื้นที่เป้าหมาย ด้วยการให้คำแนะนำและฝึกอบรมทางด้านเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนที่ดิน การขาดแคลนเงินทุน และการขาดแคลนเทคโนโลยีในการพัฒนาการเกษตร โดยใช้จุดเด่นของทรัพยากรในท้องถิ่น และความต้องการของเกษตรกร ต่อการได้รับการพัฒนาการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรที่มีลักษณะเฉพาะตามสภาพท้องถิ่น และการสร้างช่องทางการตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร รวมถึงการจัดตั้งกองทุนพัฒนาอาชีพเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชน เพื่อสร้างรายได้ และแก้ปัญหาการว่างงานของประชาชนในหมู่บ้านผู้มี รายได้น้อย

    ตัวอย่างการสนับสนุนด้านการเกษตรให้ครัวเรือนเกษตรกรที่มีรายได้น้อย ได้แก่ การเลี้ยงปศุสัตว์ การปลูกผักในโรงเรือนพลาสติก การปลูกผักกลางแจ้ง การทอผ้า และการสร้างเขตสาธิตการท่องเที่ยวในชนบท โดยโครงการดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการบรรเทาความยากจนและทำให้เกษตรกรและสมาชิกครัวเรือนที่มีรายได้น้อยมีอาชีพเสริมและมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น

    ในการดำเนินการบรรเทาความยากจนแบบมีส่วนร่วม ผู้เชี่ยวชาญชาวจีนจะแนะนำหมู่บ้านในพื้นที่เป้าหมาย ให้จัดตั้งโครงสร้างและองค์กรการบริหารการพัฒนาชนบท 4 ระดับ ด้วยการระดมมวลชนทุกฝ่ายให้เข้ามามีบทบาทที่สำคัญ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของตัวเอง ด้วยการร่วมกันออกแบบ ดำเนินการ กำกับดูแล ประเมินและติดตามผล และสร้างระบบจูงใจที่มีประสิทธิภาพ

    3.3 เสริมสร้างศักยภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาตนเอง ของหมู่บ้านในโครงการ

    ผู้เชี่ยวชาญชาวจีน แนะนำให้มีโครงการ “หมู่บ้านมิตรภาพ” ในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อดำเนินกิจกรรมแลกเปลี่ยนและเยี่ยมชมซึ่งกันและกัน มีพื้นที่สาธิตและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินการบรรเทาความยากจนอย่างสร้างสรรค์