*นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
“เศรษฐกิจฐานรากชุมชนท้องถิ่น” คือ ระบบเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่น ที่ดำเนินการภายใต้ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ความพอเพียง กล่าวคือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก โดยอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชุมชน ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม จากสังคมภายนอกชุมชนได้เป็นอย่างดี โดยมีเงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียง 2 ประการ ประกอบด้วย 1) เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในการปฏิบัติ และ 2) เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้าง ประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความอดทน มีความเพียร และใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
องค์ประกอบของเศรษฐกิจฐานรากท้องถิ่น ประกอบด้วย
· การรวมกลุ่มของคนในชุมชน
· การจัดการระบบการเงินของชุมชน
· ระบบการจัดการต้นทุนของชุมชน ประกอบด้วย ต้นทุนทางสังคม ต้นทุนของทรัพยากรบุคคล ต้นทุนทางทรัพยากร รวมถึงวิถีวัฒนธรรมภูมิปัญญา อัตลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่น และประวัติศาสตร์ของชุมชนท้องถิ่น
· การจัดการระบบข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัยและรอบด้านทั้งภายในและภายนอกชุมชน
· ระบบการผลิตขั้นพื้นฐานของชุมชน ที่สามารถพัฒนาต่อยอดให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ
· สร้างความร่วมมือในทุกระดับและในมิติด้านค่าง ๆ ทั้งภายในชุมชนและนอกชุมชน เพื่อให้เกิดความร่วมมือให้บรรลุเป้าหมาย สัมพันธภาพที่ดี และแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน ในรูปแบบของเครือข่ายความร่วมมือ
· ระบบการอยู่ร่วมกัน ที่ความเคารพกติกา ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีในการอยู่ร่วมกัน
· ระบบสวัสดิการของชุมชนในการดูแลซึ่งกันและกันในเรื่องต่าง ๆ
· การอยู่ร่วมกันของชุมชนกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสร้างสรรค์และเกื้อกูลกัน
· ระบบคุณธรรม จริยธรรมในการทำกิจกรรม การประกอบกิจการ และการดำรงชีวิต
· จิตสำนึกในความเป็นเจ้าของร่วมกันของสมาชิกในชุมชน
· การมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชนในกิจกรรมด้านเศรษฐกิจและสังคม