*นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

          อาณาจักรล้านนา คือ ราชอาณาจักรของชาวไทยในอดีต ตั้งอยู่บริเวณภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ตลอดจนสิบสองปันนา เช่น เมืองเชียงรุ่ง (จิ่งหง) มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ภาคตะวันออกของประเทศพม่า เช่น ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน มีเมืองเชียงตุงเป็นเมืองเอก ฝั่งตะวันตกแม่น้ำสาละวิน มีเมืองนายเป็นเมืองเอก และครอบคลุม 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนในปัจจุบัน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน โดยมีเมืองเชียงใหม่ เป็นราชธานี มีภาษา ตัวหนังสือ วัฒนธรรม และประเพณีเป็นของตนเอง อาณาจักรล้านนาเคยถูกปกครองในฐานะรัฐบรรณาการหรือรัฐส่วยของอาณาจักรตองอู อาณาจักรอยุธยา จนสิ้นฐานะอาณาจักร กลายเป็นเมืองส่วนหนึ่งของอาณาจักรตองอูสมัยญองยาน และรวมเข้ากับอาณาจักรสยามจนเป็นภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน ส่วนอาณาจักรล้านช้าง เป็นอาณาจักรของชนชาติลาว ซึ่งตั้งอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำโขง มีอาณาเขตอยู่ในบริเวณประเทศลาวทั้งหมด ตลอดจนพื้นที่บางส่วนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยมีความเจริญรุ่งเรืองทั้งการเมืองการปกครองด้านศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนพระพุทธศาสนา ที่มีพัฒนาการเคียงคู่มาพร้อมกันอาณาจักรอื่น ๆ ใกล้เคียงทั้งอาณาจักรล้านนา สยาม พม่า และเขมร อาณาจักรล้านนาและล้านช้าง มีความใกล้ชิดกันมาโดยตลอด อีกทั้งยังมีชื่อเรียกที่คล้ายกัน ในอดีตเคยมีกษัตริย์อาณาจักรล้านนาที่เคยปกครองอาณาจักรล้านช้าง จากการที่ทั้งสองอาณาจักรมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น จึงทำให้ทั้งสองอาณาจักรมีอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมและประเพณีต่อ “คนลุ่มน้ำโขง” สืบเนื่องต่อมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ ศิลปะด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตกรรม วัฒนธรรมของมีทั้งส่วนที่เป็นวัฒนธรรมทางวัตถุ วัฒนธรรมทางคติธรรม วัฒนธรรมทางเนติธรรม และวัฒนธรรมทางสังคม อาทิเช่น พิธีบายศรีสู่ขวัญ การฟ้อนรำ การนุ่งซิ่น  พาดสไบ การพูดที่มีคำว่า “เจ้า” โดยวัฒนธรรมต่าง ๆได้รับการถ่ายทอดในรูปแบบของประเพณี ที่เรียกว่า “ฮีตสิบสอง” หรือประเพณีสิบสองเดือน ซึ่งเป็นประเพณีที่คนลุ่มมน้ำโขง รวมถึงคนภาคอีสานและภาคเหนือของไทยได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาในโอกาสต่าง ๆ ทั้งสิบสองเดือนของแต่ละปี เป็นประเพณีที่แสดงออกตามคติทางพุทธศาสนา และประเพณีมีการผสมผสานพิธีกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องวิญญาณ พราหมณ์ และพุทธศาสนาเข้าด้วยกัน