*นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ประเทศไทยมีทรัพยากร “ซอฟต์ พาวเวอร์” (Soft Power) ที่มีศักยภาพเป็นที่รู้จักและชื่นชมของนานาประเทศ อาทิ วัฒนธรรมไทย การท่องเที่ยว กีฬา ภาพยนตร์และละคร เป็นต้น ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาประเทศในความโดดเด่นทางด้านวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์และมีความหลากหลาย กลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ดีสุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นความใฝ่ฝันของนักท่องเที่ยวจากนานาประเทศที่อยากมีโอกาสมาท่องเที่ยวประเทศไทย ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีมรดกวัฒนธรรม (Heritage) ที่ดีที่สุดประจำปี 2021 อันดับ 1 ของอาเซียน โดยประเมินจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิเช่น วัฒนธรรมด้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรม
ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมชุมชนไทยได้รับความนิยมจากลูกค้าในตลาดต่างประเทศด้วยเหตุผล ที่เป็นผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ที่ต้องใช้ระยะเวลาและความประณีตในการทำ เป็นงานฝีมือที่มีคุณค่า ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมชุมชนไทยเป็นที่ต้องการของภาคเอกชนที่ต้องการที่จะซื้อผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทยในปริมาณจำนวนมากเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยนำไปจำหน่ายผ่านช่องทางการตลาดทั้งในรูปแบบพื้นที่จริง (offline) และตลาดออนไลน์ (online) ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทยดังกล่าวจะมีเรื่องเล่าความเป็นมาทางวัฒนธรรมที่แสดงถึงอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมชุมชนไทย
“ซอฟต์ พาวเวอร์” (Soft Power) ของไทยในปัจจุบันได้เผยแพร่ไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) ให้ไปเผยแพร่ในต่างประเทศ ภายใต้แบรนด์ Content Thailand มีการเปิดการเจรจากับนักธุรกิจทั่วโลก รวมถึงการจัดสัมมนาผ่านรูปแบบออนไลน์ นำคุณค่าของวัฒนธรรมชุมชนไทยมาพัฒนาสร้างสรรค์สินค้าและบริการ (Creative Culture) เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้จากอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทยในกลุ่ม ผ้าทอ งานจักสาน ของที่ระลึก งานหัตถกรรม อาหารแปรรูปต่าง ๆ สามารถพัฒนาให้เป็นผลิตภัณวัฒนธรรมชุมชนไทยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม Soft Power กับโอกาสของประเทศไทย คือ การประสานความร่วมมือแบบ “ไตรภาคี” ระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการร่วมกันพัฒนาในการนำวัฒนธรรมชุมชนไทยมาสร้างเศรษฐกิจด้วยการพัฒนายกระดับสินค้าและบริการ ทางวัฒนธรรมชุมชนไทย เพื่อมุ่งพัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนไทยสู่อุตสาหกรรมวัฒนธรรม ขยายตลาดสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมชุมชนไทยทั้งในและต่างประเทศ อันจะเป็นการพัฒนาวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมและทรัพย์สินทางปัญญาบนหลักการของโมเดลเศรษฐกิจ BCG (BCG Economy) อันประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)