*นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ประเทศไทยได้ขับเคลื่อน “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันผ่านโมเดลโมเดลเศรษฐกิจBCG (BCG Economy) อันประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยน้อมนำหลักการ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นหลักในการพัฒนาสู่ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยการใช้ “Soft Power” เป็นเครื่องมือเพิ่มมูลค่า “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” (Creative Economy) ที่มาจากองค์ความรู้ และการวิจัย และเชื่อมโยงเข้ากับวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ประวัติศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ตลอดถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อใช้ในการพัฒนาธุรกิจการค้า การผลิตสินค้า และธุรกิจบริการรูปแบบใหม่ ๆ ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
ประเทศไทยได้นำ “อัตลักษณ์ท้องถิ่น” มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนา “Soft Power” เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้กับประเทศ รายได้ของประเทศไทยจาก “Soft Power” ที่สำคัญประกอบด้วย 1) สินค้าวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ 2) การส่งออกอาหารไทย 3) อุตสาหกรรมคอนเทนต์ ภาพยนตร์ ละคร แอนิเมชัน เกม คาแรคเตอร์ 4) รายได้จากผ้าไทย 5) รายได้จากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และ 6) รายได้จากผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย และผลิตภัณฑ์ชุมชน
นอกจากนี้ประเทศไทยมุ่งเป้าส่งเสริมวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่มีความโดดเด่นในรูปแบบ “ห่วงโซ่คุณค่า” (Value Chain) ของ “5F” ประกอบด้วย 1) อาหารไทย (Food) 2) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) 3) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) 4) มวยไทยและศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) และ 5) เทศกาลประเพณีไทย (Festival) และพัฒนาส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยใน 15 สาขา ประกอบด้วย 1) งานฝีมือและหัตถกรรม 2) ดนตรี 3) ศิลปะการแสดง 4) ทัศนศิลป์ 5) ภาพยนตร์ 6) การแพร่ภาพและกระจายเสียง 7) การพิมพ์ 8) ซอฟต์แวร์ 9) การโฆษณา 10) การออกแบบ 11) การให้บริการด้านสถาปัตยกรรม 12) แฟชั่น 13) อาหารไทย 14) การแพทย์แผนไทย และ 15) การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยมีเป้าหมายสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยจากสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมในปี 2570 คิดเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ของ GDP