*นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ประเทศไทยอันเป็นจุดหมายปลายทางแห่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อน หรือเพื่อการประกอบธุรกิจต่าง ๆ พร้อมไปกับการท่องเที่ยวในเวลาเดียวกัน ก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับประเทศไทย รายได้จากการท่องเที่ยวถือเป็นรายได้หลักประเภทหนึ่งของเศรษฐกิจไทย
รูปแบบการท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทยประเภทหนึ่ง คือ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เนื่องจากประเทศไทยมีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่งดงามที่ได้มีการสั่งสม ถ่ายทอดสืบต่อกันมาเป็นระยะเวลาหลายร้อยปี ทั้งในส่วนของสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และศิลปวัฒนธรรมที่เป็น Soft Power อันทรงคุณค่าของประเทศไทย แต่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมีความจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อให้การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมคงอยู่คู่กับสังคมไทย และสร้างรายได้ผ่านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้กับประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน
หนึ่งในเครื่องมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม คือ การวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain ) การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แนวทางการวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อาทิเช่น
1) ทุนวัฒนธรรมของพื้นที่ การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า บริการ และแหล่งท่องเที่ยว การตลาดเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
2) อัตลักษณ์ วัฒนธรรมของเมืองและชุมชน คิดค้นนวัตกรรมเพื่อต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น การบริหารจัดการเมืองและชุมชน การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเพิ่มขึ้นของเมืองและชุมชนที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มจำนวนเมืองและชุมชนมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
3) อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ของศิลปวัฒนธรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การยกระดับผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการ การขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์สินค้าท่องเที่ยว เชิงวัฒนธรรมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์สินค้าท่องเที่ยวท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้รับการขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาและได้มาตรฐานสากลเพิ่มขึ้น