*นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และมีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ รวมถึงศิลปวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่ากระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทยที่เป็นเกษตรกร ประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและหนี้สินครัวเรือน รัฐบาลจึงแสวงหาแนวทางในการบรรเทาปัญหาดังกล่าวในหลาย ๆ ด้าน อาทิเช่น ด้านการท่องเที่ยว โดยรัฐบาลดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศในหลาย ๆ ลักษณะ ตัวอย่างเช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนโดยวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ
การจัดการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อบรรเทาความยากจน มุ่งเป้าไปที่การท่องเที่ยวบนพื้นฐานของทรัพยากรธรรมชาติ และศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามในชุมชน โดยมีเป้าหมายยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนในชุมชนให้มีรายได้เพิ่มพูนขึ้น จนถึงขั้น “พอเพียง” เป็นเป้าหมายสำคัญ การจัดการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืนที่ชุมชนได้ประโยชน์ หรือ Community Benefitting Through Tourism (CBTT) ควรประกอบด้วยแนวคิดพื้นฐาน 4 ประการ ประกอบด้วย 1) เป็นการจัดการท่องเที่ยวโดยวิสาหกิจชุมชน ให้คนในวิสาหกิจชุมชน มีส่วนร่วม ไม่ได้เป็นของคนใดคนหนึ่ง 2) อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิตของชุมชน วัฒนธรรมประเพณี และมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ให้เป็นที่รู้จักต่อสาธารณะ 3) สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชนเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ให้เกิดความรู้รักสามัคคี ไม่ให้เกิดความแตกแยก เพื่อเป้าหมายการพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน และ 4) มีเป้าหมายยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนในชุมชนด้วยการ “แบ่งปัน” ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นภายในชุมชน อาทิเช่น การจ้างงานคนในชุมชน และการใช้วัตถุดิบในชุมชน จนถึงขั้น “พอเพียง” เป็นเป้าหมายสำคัญ