ประเทศไทยกับกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง

    *นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

    กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong – Lancang Cooperation: MLC) เป็นข้อริเริ่มของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2555 และประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 1 ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558 (บางประเทศเห็นว่าการจัดตั้งฯ เกิดขึ้นในช่วงการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 1 ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559)

    กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ประกอบด้วยประเทศสมาชิก จำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา จีน สปป.ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม โดยประเทศไทยเตรียมเป็นประธานร่วมกับประเทศจีนต่อจากประเทศเมียนมา ภายหลังการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 4 ที่คาดว่าจะจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2566

    กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง มีปฏิญญาระดับผู้นำประเทศ (ประเทศสมาชิกรับรองโดยไม่ลงนาม) และแผนปฏิบัติการภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ระยะ 5 ปี (ค.ศ. 2018 – 2022) เป็นเอกสารสำคัญ  เชิงนโยบาย ภายใต้แผนปฏิบัติการกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ระยะ 5 ปีแรก ประกอบด้วย เสาหลักความร่วมมือ 3 เสาหลัก ได้แก่ (1) การเมืองและความมั่นคง (2) เศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ (3) สังคมและวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน และ 5 สาขาความร่วมมือ ได้แก่ (1) ความเชื่อมโยง (2) ศักยภาพในการผลิต (3) เศรษฐกิจข้ามพรมแดน (4) ทรัพยากรน้ำ และ (5) การเกษตรและการขจัดความยากจน

    กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง สามารถพัฒนาความร่วมมือในสาขาอื่น ๆ ได้อีกในลักษณะ 3+5+X (X หมายถึงความร่วมมือด้านอื่น ๆ ที่ไม่อยู่ใน 3 เสา และ 5 สาขา) ทั้งนี้ประเทศสมาชิกอยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ระยะ 5 ปี (ค.ศ. 2023 – 2027) เพื่อให้ที่ประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 4 รับรอง

    ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ระยะ 5 ปี (ค.ศ. 2018 – 2022) ประเทศไทยมีความประสงค์ที่จะผลักดันประเด็นดังต่อไปนี้ ประกอบด้วย

    1) ด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาทิเช่น การส่งเสริมความเชื่อมโยง ในทุกมิติ รวมทั้งด้านกฎระเบียบและมาตรฐานที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะสินค้าเกษตร การส่งเสริมเศรษฐกิจ BCG การขยายและเชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZs)    การส่งเสริมการพัฒนาดิจิทัล และการพัฒนาระเบียงนวัตกรรม

    2) ด้านการบริหารจัดการน้ำ ส่งเสริมแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำและการทำวิจัยร่วมกับจีน และผลักดันให้สมาชิกในกลุ่มประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับ Mekong River Commission (MRC) รวมทั้งสนับสนุนการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีเรื่องน้ำอย่างสม่ำเสมอ

    3) ด้านความั่นคงสาธารณสุข ร่วมมือกับจีนฟื้นฟูการเดินทาง และเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์โรคระบาดในอนาคต

    4) ผลักดันให้สมาชิกในกลุ่มประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ขับเคลื่อนอย่างสอดประสานกับยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ซึ่งไทยเป็นผู้ริเริ่มเมื่อปี 2546 และให้จีนมีบทบาทที่มีนัยสำคัญใน ACMECS