การท่องเที่ยวสวนกระแส ช่วยบรรเทาความยากจน

    *นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

    ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางแห่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวทั้งในรูปแบบส่วนตัวและหมู่คณะ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเลือกท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงทั้งในส่วนกลางและเมืองหลักตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย อาทิเช่น กรุงเทพมมหานครฯ ภูเก็ต ชลบุรี สุราษฎร์ธานี และ เชียงใหม่ ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวตามเมืองรองของภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งท่องเที่ยวชนบทและแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรม ไม่ใคร่เป็นที่รู้จักในหมู่ของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวที่มาจากต่างประเทศ ส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวกระจุกตัวอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงทั้งในส่วนกลางและเมืองหลักของประเทศไทย อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและนำไปสู่ความยากจนของประชาชนที่อาศัยอยู่ตามเมืองรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท

    ในทางตรงกันข้ามพบว่าแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ชนบทในเมืองรองตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย มีความหลากหลาย มีความสวยงาม และมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ที่รอการค้นหาและเข้าถึงของนักท่องเที่ยว เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเที่ยวที่แตกต่างจากรูปแบบเดิมที่เน้นความสะดวกสบายพรั่งพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก มาสู่การท่องเที่ยวที่เรียบง่าย ไม่เน้นความสะดวกหรูหรา แต่เน้นการเข้าถึงธรรมชาติและวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นของแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ตามเมืองรองของประเทศไทย การท่องเที่ยวในรูปแบบนี้สามารถเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า “การท่องเที่ยวสวนกระแส”

    การพัฒนาการท่องเที่ยวสวนกระแส สามารถใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการบรรเทาความยากจนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ชนบทด้วยจุดแข็งของทรัพยากรการท่องเที่ยวในท้องถิ่น ด้วยกลไกการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคม แนวทางการบรรเทาความยากจนด้วยการพัฒนาการท่องเที่ยวสวนกระแส ประกอบด้วยการจัดการการท่องเที่ยวในหลากหลายมิติ ได้แก่

    1) การระดมทรัพยากร ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และบริการในเขตชนบทเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยว อาทิเช่น การปรับปรุงห้องน้ำให้นักท่องเที่ยวทุก ๆวัยสามารถใช้ได้อย่างสะดวกและปลอดภัย การปรับปรุงทางเดินเท้าและป้ายบอกทาง

    2) การวางแผนและการดำเนินการจัดการท่องเที่ยว ตัวอย่างเช่น การจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อวางแผนและออกแบบการท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับการจัดระบบสวัสดิการสาธารณะของชุมชน และการวางแผนการดำเนินการในการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยการท่องเที่ยวสวนกระแสของหมู่บ้านที่ยากจนอย่างต่อเนื่อง

    3) การดำเนินการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และถ่ายทอดประสบการณ์การท่องเที่ยวสวนกระแส อาทิเช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวสวนกระแสผ่านการไลฟ์ด้วยแฟลตฟอร์มต่าง ๆ

    4) การพัฒนาสมรรถนะและทักษะบุคลากรทางการท่องเที่ยว ตัวอย่างเช่น การฝึกอบรมการให้บริการเฉพาะด้านการท่องเที่ยวสวนกระแส การส่งเสริมและระดมทรัพยากรและความร่วมมือโดยมุ่งเป้าเพื่อบรรเทาความยากจนในพื้นที่ชนบทด้วยการท่องเที่ยวสวนกระแส