การพัฒนาเศรษฐกิจวงจรคู่กับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจังหวัดหนองคาย

    *นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

    ผลจากการเปิดอย่างเป็นทางการของเส้นทางรถไฟจีน – ลาว เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ระหว่างนครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน มาสู่นครเวียงจันทร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก่อให้เกิดความตื่นตัวของหน่วยงานภาคต่าง ๆ ในจังหวัดหนองคาย ที่เรียกว่า “ไตรภาคี” อันประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน และหน่วยงานภาควิชาการ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากการมาถึงของรถไฟจีน – ลาว เนื่องจากจังหวัดหนองคายเป็นจังหวัดชายแดนที่ติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จึงเป็นโอกาสอันดีที่จังหวัดหนองคายจะได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างประโยชน์โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ โดยหนึ่งในการสร้างประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจจากเส้นทางรถไฟ  จีน – ลาว คือ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในจังหวัดหนองคาย ทั้งในส่วนของการท่องเที่ยวโดยคนไทยที่จะเข้ามาท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในจังหวัดหนองคาย ก่อนที่จะเดินทางท่องเที่ยวต่อไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และจุดหมายปลายทางที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ในทางกลับกัน นักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐประชาชนจีน และจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สามารถเข้าท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในจังหวัดหนองคาย ก่อนที่จะเดินทางท่องเที่ยวต่อไปยังจุดหมายต่าง ๆ ในประเทศไทย เป็นโมเดล รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจวงจรคู่จากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจังหวัดหนองคาย (A model of dual circulation economic development from cultural tourism in Nong Khai Province)

    โมเดลรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจวงจรคู่จากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจังหวัดหนองคาย มีระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เกี่ยวข้อง 3 องค์ประกอบหลักที่สะท้อนจากการแบ่งปันข้อมูลจาก “ไตรภาคี” ประกอบด้วย    1. แหล่งท่องเที่ยว 2. ธุรกิจบริการทางการท่องเที่ยว และ 3. บุคลากรด้านการท่องเที่ยว มีความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนา ปรับปรุง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ “เศรษฐกิจวงจรคู่จากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจังหวัดหนองคาย” ประสบความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน ตัวอย่างประเด็นจากการแบ่งปันข้อมูลจาก “ไตรภาคี” ต่อระบบนิเวศ (Ecosystem) ในแต่ละองค์ประกอบ ได้แก่ 1. ประเด็นแหล่งท่องเที่ยว 1.1) ควรมีการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดหนองคายให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวทั้งในประเทศไทย (มีคนไทยอีกจำนวนมากไม่ทราบข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดหนองคาย) ตลอดถึงนักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 1.2) การพัฒนาเส้นทางคมนาคมเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวให้สะดวก ปลอดภัย และเชื่อมต่อแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ในจังหวัดหนองคายและจังหวัดรอยต่อตลอดริมฝั่งแม่น้ำโขงใน “ลักษณะผืนใหญ่” (การท่องเที่ยวแบบองค์รวม) 1.3) การพัฒนามาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวให้พร้อมรองรับการมาเยือนของนักท่องเที่ยว อาทิเช่น ห้องน้ำสะดวกและสะอาด ทางเดินตามแหล่งท่องเที่ยวสะดวกและปลอดภัย เป็นต้น 2. ประเด็นธุรกิจบริการทางการท่องเที่ยว 2.1) สนับสนุนการลงทุนในกลุ่มธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวในอัตราพิเศษ 2.2) อาหาร เครื่องดื่ม เชิงวัฒนธรรมที่ใช้ผลผลิตภายในพื้นที่ที่มีคุณภาพและเหมาะกับนักท่องเที่ยว 2.3) พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรแบบครบวงจร พัฒนาสินค้าเกษตรและอื่น ๆ และส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) 3. บุคลากรด้านการท่องเที่ยว 3.1) โรงเรียน สถาบันการศึกษา ศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาอาชีพ ให้เพิ่มหลักสูตรภาษาและวัฒนธรรมจีน 3.2) มีบุคลากรในพื้นที่ที่เข้าใจบริบทวัฒนธรรมพื้นถิ่นเบื้องต้นถึงลึกซึ้ง 3.3) การสร้างความเชื่อมโยงกับชุมชน        

    บทความฉบับนี้เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งของชุดโครงการวิจัย (Research Program) “การพัฒนาส่งเสริมธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีนตามเส้นทางรถไฟจีน-ลาว กรณีศึกษาจังหวัดหนองคาย” ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการจาก “ฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา” มหาวิทยาลัยขอนแก่น (Supported by Research and Graduate Studies Khon Kaen University)

    smart
    smart
    smart