*นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ปัจจุบันการเข้าถึงเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกของวิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่ คือ การสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ วิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่ ไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอในการจัดหาเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกด้วยตัวเอง ปัญหาหลัก คือ เรื่อง หลักทรัพย์การค้ำประกัน และดอกเบี้ยที่สูง ที่เกินความสามารถของวิสาหกิจชุมชนในการชำระเงินกู้ จึงเป็นที่มาของแนวคิดห่วงโซ่คุณค่ากับการเชื่อมโยงการวางแผนพลังงานทางเลือกและเศรษฐกิจฐานราก เพื่อพัฒนาโครงการของวิสาหกิจชุมชนที่มีความเหมาะสมในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และพลังงาน เกิดวิธีการประเมินโครงการที่เหมาะสม ที่สามารถนำไปยื่นต่อสถาบันการเงิน และสถาบันการเงินยอมรับในวิธีการคำนวณความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
ห่วงโซ่คุณค่ากับการเชื่อมโยงการวางแผนพลังงานทางเลือกและเศรษฐกิจฐานราก ประกอบด้วยหลัก 5 ประการ ได้แก่ 1) การพึ่งพาตนเอง 2) ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อมีคุณธรรม 3) ก่อให้เกิดการพัฒนาด้านอื่น ๆ 4) สร้างความสัมพันธ์ เศรษฐกิจ สังคม และคนในชุมชนท้องถิ่น และ 5) เชื่อมโยงเครือข่าย
อาชีพที่สามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่วิสาหกิจชุมชน ตามแนวคิดห่วงโซ่คุณค่ากับการเชื่อมโยงการวางแผนพลังงานทางเลือกและเศรษฐกิจฐานราก แบ่งออกได้ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มที่ 1 การเกษตร กลุ่มที่ 2 การแปรรูป และกลุ่มที่ 3 การท่องเที่ยว
กลุ่มที่ 1 การเกษตร แบ่งตามลักษณะของห่วงโซ่คุณค่า ออกเป็น ต้นน้ำ คือ การเพาะปลูก กลางน้ำ คือ การเก็บเกี่ยว และปลายน้ำ คือ การจัดเก็บ
กลุ่มที่ 2 การแปรรูป แบ่งตามลักษณะของห่วงโซ่คุณค่า ออกเป็น การลดการใช้พลังงาน การลดเวลา การเพิ่มมูลค่า การรักษาสะอาดและปลอดภัย และการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ให้เป็นประโยชน์
กลุ่มที่ 3 การท่องเที่ยว แบ่งตามลักษณะของห่วงโซ่คุณค่า ออกเป็น อาหารท้องถิ่น สินค้าและของฝากท้องถิ่น ที่พักค้างแรม และการเดินทางระหว่างมาและในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว