การท่องเที่ยวชุมชนแบบยั่งยืน

    *นายประทีป ช่วยเกิด นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

    ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยวที่มากมายและหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม หรือแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ อันเป็นจุดหมายปลายทางแห่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยทั้งในรูปแบบส่วนตัวและหมู่คณะ การท่องเที่ยวชุมชนแบบยั่งยืนมุ่งเน้นไปที่การท่องเที่ยวบนพื้นฐานของทรัพยากรของชุมชน รวมถึงศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและกระจายรายได้แก่คนในชุมชนให้สามารถดำเนินชีวิตได้แบบพอเพียง การท่องเที่ยวที่ชุมชนได้ประโยชน์ หรือ Community Benefitting Through Tourism หรือ CBTT มีส่วนก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับชุมชนต่างๆ ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงด้วย

    การท่องเที่ยวชุมชนแบบยั่งยืนที่ชุมชนได้ประโยชน์ หรือ CBTT ประกอบด้วยแนวทางการดำเนินงาน 4 ประการ ได้แก่ 1) การให้ประชาชนในชุมชนแหล่งเที่ยวเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของการท่องเที่ยวชุมชนแบบยั่งยืน ในฐานะ “เจ้าภาพ” ตามหลักการของ “ทฤษฎีว่าด้วยเจ้าภาพของปัญหา” 2) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแหล่งท่องเที่ยวชุมชนให้คงอยู่ในสภาพเดิม ตลอดถึงการรักษาและอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมวิถีชีวิตที่ดีงามอันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน 3) การดำเนินการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ ทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยวและขนบธรรมเนียมของชุมชน ให้เข้าถึงนักท่องเที่ยวผ่านแพลตฟอร์ม (Platform) ต่าง ๆ 4) การวางแผนและกำหนดเป้าหมายให้การดำเนินงานการท่องเที่ยวชุมชนแบบยั่งยืน มีส่วนช่วยให้ประชาชนในชุมชนสามารถดำเนินชีวิตได้แบบพอเพียง ตามหลักการ “สุข…เพราะพอใจ สบาย…เพราะพอดี มั่งมี…เพราะพอเพียง”